ในที่สุดรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ กระทรวงการต่างประเทศ เวลา 11.30 น. วันที่ 30 ธ.ค.เนื่องจากกลุ่ม นปช.ได้ปิดล้อมอาคารรัฐสภารอบด้าน สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถเข้าไปร่วมประชุมตามวันเวลาที่กำหนด นับจากนี้ไปก็ต้องติดตามดูว่ารัฐบาลจะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ได้มากน้อยเพียงใด
สำหรับนนโยบายที่ชาวท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องติดตามและร่วมปฏิบัตินั้นมีอะไรบ้าง จะได้ประมวลให้ทราบดังนี้
รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ได้วางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการบริหารประเทศภายใต้นโยบายที่แถลงควบคู่ไปกับ การแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ การพัฒนาธรรมาภิบาล การพัฒนาพื้นที่ การสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค และการร่วมมือในการพัฒนาอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นกลไกรหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในนโนยายด้านประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน (ข้อ8)
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นรัฐบาลได้วางไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน โดย (ข้อ1.2.6 ) สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเร่งรัดและลดขั้นตอนของภาครัฐเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว
(ข้อ1.2.10) ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้แก่ อสม.เพื่อสร้างแรงจูงใจหนุนเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข รัฐบาล (ข้อ3.3.1) จะ สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอนามัย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดสรรทุนให้เพื่อกลับมาทำงานในท้องถิ่น
นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม (ข้อ3.4.1) รัฐบาลจะส่งเสริมการทำนุบำรุงและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย ให้มีความก้าวหน้า มีการค้นคว้า วิจัย ฟื้นฟู และพัฒนา พร้อมทั้งฟื้นฟูต่อยอดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
(ข้อ 3.4.3) สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมที่ดีงาม และความเป็นไทยเพื่อการศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่สู่สังคมโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวโลกและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
นโยบายการกีฬาและนันทนาการ (ข้อ3.6.1) รัฐบาลจะ เสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬา จัดหาสถานที่จัดกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีความสนใจในการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
(ข้อ3.6.4 ) ปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านการกีฬา โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการกีฬา จัดกิจกรรมและสถานกีฬา รวมทั้งจัดสร้างลานกีฬาในทุกหมู่บ้านและชุมชน
นโยบายเศรษฐกิจด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร (ข้อ4.2.1.9 ) รัฐบาลจะพัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง โดยสร้างและพัฒนาคุณภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตและการบริหารองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้จากนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภาคเกษตรและสังคมไทย
(ข้อ4.2.3.4) พัฒนาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านการตลาด และกำหนดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนจุดขายที่มีความโดดเด่นของไทยให้เป็นศูนย์กลางระดับโลก โดยเฉพาะความพร้อมของการให้บริการทางด้านศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ข้อ5.2) รัฐบาลจะคุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ความหลายทางชีวภาพ โดยสำรวจ จัดทำระบบฐานข้อมูล อนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารพลังงาน สุขภาพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้การคุ้มครองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางชีวภาพ
(ข้อ5.4 ) ควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายมาเป็นมลพิษทั้งในรูปขยะ ขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง และน้ำเสีย โดยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการป้องกันมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะชุมชนกลางในทุกจังหวัด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ก่อมลพิษที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เร่งแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ที่วิกฤตซ้ำซาก รวมทั้งสนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษีและสิทธิต่าง ๆ กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษ
(ข้อ5.5 ) พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ชุมชนและนักวิชาการในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และที่ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด และช่วยลดมลพิษ
(ข้อ5.6) ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปของสมัชชาสิ่งแวดล้อมมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และจัดให้มีการใช้ระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นกลไกกำกับให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งสนองโครงการพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอย่างจริงจัง
นโนยายประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน (ข้อ8.1.1) รัฐบาลจะนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น
(ข้อ8.1.2) สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความรับผิดชอบต่อชุมชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงาน ตลอดจนการจัดบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น
(ข้อ8.1.3) ปรับบทบาทและภารกิจการบริหารราชการระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจที่สนับสนุนเชื่อมโยงกัน และประสานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง
(ข้อ8.1.4) บูรณาการความเชื่อมโยงของการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่นโดยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภาค ตลอดจนเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนชุมชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผน
(ข้อ8.1.5) สนับสนุนให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร
ขณะเดียวกันนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม นั้นรัฐบาลกำหนดเกียวกับการกระจายอำนาจของตำรวจ อย่างเช่น (ข้อ8.2.6) สนับสนุนและพัฒนาตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นตำรวจมืออาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี รวมทั้งดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจของตำรวจทั้งในส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักและกระจายอำนาจการบริหารไปยังส่วนภูมิภาค
พร้อมกันนี้ (ข้อ8.2.7) เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผลการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้ใช้อำนาจรัฐอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ได้เห็นความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อย หากทำได้เพียงครึ่งเดียวก็คือว่าสุดยอดแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของตำรวจ ซึ่งพูดกันมานานแล้วแต่ก็ยังไม่ขยับไปถึงไหน ก็ถือว่าสอดคล้องกับเสียงความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
mhanation.net/
วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551
คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกฯอภิสิทธิ์
นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เร่งสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม รักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจและ กรอ. พร้อมวางนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วง 3 ปี
วันนี้ (30 ธ.ค.) เวลา 11.30 น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังนี้
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาล จะดำเนินการเพื่อนำสังคมไทยกลับคืนสู่ความสมัครสมานสามัคคี เอื้ออาทร และคนไทยมีความสุขถ้วนหน้า พร้อมทั้งนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลนี้เข้าบริหารประเทศในช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งและมีความแตกแยก เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการเมืองและการบริหารประเทศ ความขัดแย้งดังกล่าวระหว่างกลุ่มประชาชนได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลให้การบริหารบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาขาดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศในเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญเร่งด่วน และมีผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นจุดอ่อนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ
วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เริ่มต้นจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลเชื่อมโยงถึงระบบการเงินของประเทศต่าง ๆ ในโลก ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ได้มีผลต่อสถาบันการเงินของประเทศไทยโดยตรง แต่ก็มีผลกระทบให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาติออกจากประเทศในช่วงดังกล่าว และส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีเมื่อเดือนตุลาคม
ความเสียหายต่อระบบการเงินอย่างรุนแรงได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขณะนี้หลายอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ การบิน และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น กำลังประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นที่อาจจะล้มละลาย และได้มีการปลดคนงานออกแล้วเป็นจำนวนหลายล้านคน เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.6 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 22.6 จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 16.5 เทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา ยอดมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือน ลดลงประมาณร้อยละ 40 และภาคการก่อสร้างอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงประมาณการรายได้ของรัฐบาลในรูปภาษีและรายได้อื่น ๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีแนวโน้มจะปรับลดลงจากประมาณการเดิมประมาณร้อยละ 10
ในปี 2552 เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นประเทศไทยจะเผชิญกับการชะลอตัวของการส่งออก การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลดลงของราคาสินค้าเกษตร และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้นแนวโน้มจำนวนคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนคนในปัจจุบันเป็น 1 ล้านคน อันจะส่งผลให้ความยากจน ปัญหาสังคมและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งขยายไปสู่ความขัดแย้งในภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากปัญหาสำคัญเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่ปัญหาพื้นฐานระยะยาวของประเทศไทยซึ่งเป็นสิ่งที่จะละเลยมิได้ ในปัจจุบันคนไทยยังมีการศึกษาโดยเฉลี่ยประมาณ 9 ปี น้อยกว่าประเทศในแถบเอเชียซึ่งมีการศึกษาเฉลี่ยประมาณ 10 ถึง 12 ปี คุณภาพของการศึกษายังมีปัญหาส่งผลให้สัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนต่ำกว่ามาตรฐานในวิชาสำคัญ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านี้รักษาให้หายได้ยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ดังนั้นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การเตรียมการสำหรับสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ความมั่นคงของอาหารและพลังงานของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างสรรค์ การแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ การพัฒนาธรรมาภิบาล การพัฒนาพื้นที่และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค และการร่วมมือในการพัฒนาอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน แก้ไขวิกฤตทางสังคมที่มีความแตกแยกและพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยุติวิกฤตทางการเมืองและปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการนี้รัฐบาลจะดำเนินการให้บรรลุภารกิจดังกล่าวภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 4 ประการคือ
หนึ่ง ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ
สอง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ บนพื้นฐานของความถูกต้อง ยุติธรรมและการยอมรับของทุกภาคส่วน
สาม ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนจะประสบ
สี่ พัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมือง ให้มีความมั่นคง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสากล
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการใช้คุณธรรมนำความรู้ และจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเคร่งครัด โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการและมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในปีแรกอย่างชัดเจน และระยะการบริหารราชการ 3 ปีของรัฐบาลซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
1.1 การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการลงทุนและการบริโภค
1.1.1 เสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยใช้แนวทางสันติ รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติในทุกกรณี รวมทั้งฟื้นฟูระเบียบสังคมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ตลอดจนสนับสนุนองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์ ภายใต้กรอบของบทบาทอำนาจและหน้าที่ขององค์กร
1.1.2 จัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์และแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม กำหนดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งสนับสนุนให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
1.1.3 ปฏิรูปการเมือง โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รวมทั้งสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
1.1.4 เร่งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของชาวโลก โดยให้ความสำคัญต่อกรอบความร่วมมืออาเซียนเป็นลำดับแรก และร่วมมือกับรัฐสภาในการพิจารณาอนุมัติเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนจะต้องลงนามในช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2552 และเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน
1.1.5 ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นที่ครอบคลุมภาคเกษตรและเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์ การสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและฟื้นฟูทรัพยากร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2552 พร้อมทั้งจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเพื่อให้สามารถบรรเทาภาวะความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจได้
1.1.6 เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ และปรับแผนงบประมาณของส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 อยู่แล้ว เพื่อใช้ในการจัดการฝึกอบรมและสัมมนาให้กระจายทั่วประเทศ รวมทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
1.1.7 เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่โครงการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน ให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในปี 2552 โดยให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของประชาชน การรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการรักษาวินัยการคลังของประเทศ รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
1.2 การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน
1.2.1 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน
1.2.2 ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อรองรับปัญหาแรงงานว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมและนักศึกษาจบใหม่ โดยจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 500,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี ตามกลุ่มความถนัดและศักยภาพ และรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วิสาหกิจและธุรกิจชุมชน
1.2.3 เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้ตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และการดำเนินโครงการสานฝันแรงงานคืนถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้างงานและจัดที่ทำกิน ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับแรงงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเลิกจ้างให้คืนสู่ภาคเกษตร
1.2.4 สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่แสดงความจำนงโดยการขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ รวมทั้งขยายเพดานให้กู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 30,000 บาทต่อราย
1.2.5 เพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนและกระตุ้นธุรกิจในสาขาที่ได้รับผลกระทบ
1.2.6 สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเร่งรัดและลดขั้นตอนของภาครัฐเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว
1.2.7 ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเร่งสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเกษตร ทั้งระบบประกันความเสี่ยงราคาพืชผลผ่านกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและระบบประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ
1.2.8 เร่งรัดและพัฒนาตลาดและระบบการกระจายสินค้าของสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก
1.2.9 จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ และมีระบบการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
1.2.10 ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้แก่ อสม.เพื่อสร้างแรงจูงใจหนุนเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
1.3 การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
1.3.1 ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี โดยสนับสนุนตำราในวิชาหลักให้แก่ทุกโรงเรียน จัดให้มีชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยรายการต่างๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง
1.3.2 กำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ ให้มีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างเหมาะสม และไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
1.3.3 ดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในส่วนของการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม และบริการด้านสาธารณูปโภค โดยปรับปรุงมาตรการที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด
1.3.4 ใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการใช้น้ำมันอย่างประหยัด
1.4 จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ในส่วนของนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีของรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายหลักในการบริหารประเทศซึ่งปรากฏตามนโยบายข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 8 ดังต่อไปนี้
2. นโยบายความมั่นคงของรัฐ
2.1 ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ โดยการเสริมสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งป้องกันอย่างจริงจังมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ
2.2 เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศให้มีความพร้อมในการรักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติ โดยการเตรียมความพร้อมของกองทัพ การฝึกกำลังพลให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติภารกิจ และการจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละเหล่าทัพ ตลอดจนจัดให้มีแผนการสำรองอาวุธและพลังงานเพื่อความมั่นคง สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง ปรับสิทธิประโยชน์กำลังพล เบี้ยเลี้ยง และค่าเสบียงสนามของทหารหลักและทหารพราน รวมทั้งสวัสดิการของกำลังพลให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาความร่วมมือทางการทหารกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศอื่น ๆ และส่งเสริมบทบาทในการรักษาสันติภาพของโลกภายใต้กรอบสหประชาชาติ
2.3 เสริมสร้างสันติภาพของการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาโดยสันติวิธี ให้ความสำคัญกับการสำรวจและการปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามข้อตกลงและสนธิสัญญา ประสานงานและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในบริเวณชายแดน
2.4 แก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยการปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบชายแดน และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ชัดเจน บนความสมดุลระหว่างการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลกับการรักษาความมั่นคงของชาติ
2.5 เสริมสร้างศักยภาพในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ โดยให้ความสำคัญแก่การพัฒนาระบบและกลไกต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ รวมทั้งพัฒนากฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับนานาประเทศและส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กรอบสหประชาชาติ
3. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
3.1 นโยบายการศึกษา
3.1.1 ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง
3.1.2 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้สนองตอบความต้องการด้านบุคลากรของภาคเศรษฐกิจ
3.1.3 พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า
3.1.4 จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน
3.1.5 ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา
3.1.6 ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีการประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้ รวมทั้งขยายกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น
3.1.7 ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้
3.1.8 เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานในการบูรณาการทุกมิติ และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา
3.2 นโยบายแรงงาน
3.2.1 ดำเนินการให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทย โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพการจ้างงาน โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบการผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการปฏิบัติต่อแรงงานด้านสิทธิและคุ้มครองให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล
3.2.2 ปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน
3.2.3 พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้วยการระดมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในลักษณะโรงเรียนในโรงงาน และการบูรณาการกับสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน
3.2.4 ส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการสนับสนุนด้านสินเชื่อการไปทำงานในต่างประเทศ การฝึกอบรมทักษะฝีมือและทักษะการใช้ภาษา การสร้างหลักประกัน การคุ้มครองดูแลการจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ และการติดตามดูแลมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบระหว่างการทำงานในต่างประเทศ
3.2.5 สนับสนุนสวัสดิการด้านแรงงาน โดยจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน จัดให้มีสถานดูแลเด็กอ่อนในสถานประกอบการ และเพิ่มศักยภาพกองทุนเงินทดแทนในการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งจัดระบบดูแลด้านสวัสดิการแรงงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ และส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในระบบไตรภาคี เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ
3.2.6 จัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต ไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานไทย และความมั่นคงของประเทศ โดยการจัดจำแนกประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำ และการจัดระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว การขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และการจัดทำทะเบียนแรงงานต่างด้าวและระบบการตรวจสอบที่สะดวกต่อการควบคุม
3.2.7 ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการ โดยการกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมตามความสามารถของผู้สูงอายุและคนพิการ อาทิ การทำงานแบบบางเวลา การทำงานชั่วคราว การทำงานแบบสัญญาระยะสั้น รวมทั้งการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน
3.3 นโยบายด้านสาธารณสุข
3.3.1 สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอนามัย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดสรรทุนให้เพื่อกลับมาทำงานในท้องถิ่น
3.3.2 สร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค วินิจฉัย และดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาการป่วยและตายด้วยโรคอุบัติใหม่ที่รวมถึงโรคที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ และโรคระบาดซ้ำในคน อย่างทันต่อสถานการณ์
3.3.3 ปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐในทุกระดับให้ได้มาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีคุณภาพอย่างเพียงพอ ทั่วถึง มีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมได้ถึงการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
3.3.4 ลงทุนผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควบคู่กับการสร้างขวัญกำลังใจให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้มีรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพด้านการแพทย์ มีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนการลงทุนพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพให้ทันสมัย มีมาตรฐานสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า
3.3.5 ผลักดันการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในระดับนานาชาติ โดยมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม มีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.4 นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
3.4.1 ส่งเสริมการทำนุบำรุงและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย ให้มีความก้าวหน้า มีการค้นคว้า วิจัย ฟื้นฟู และพัฒนา พร้อมทั้งฟื้นฟูต่อยอดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
3.4.2 เสริมสร้างบทบาทของสถาบันครอบครัวร่วมกับสถานบันทางศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันทางสังคมอื่น ๆ ในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีและการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ สร้างกระแสเชิงบวกให้แก่สังคม และเปิดพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
3.4.3 สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมที่ดีงาม และความเป็นไทยเพื่อการศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่สู่สังคมโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวโลกและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
3.4.4 ส่งเสริมการปรับปรุงองค์กรและกลไกที่รับผิดชอบด้านศาสนา เพื่อให้การบริหารจัดการ ส่งเสริม ทำนุบำรุงศาสนา มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา เพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น
3.5 นโยบายสวัสดิการสังคม และความมั่นคงของมนุษย์
3.5.1 แก้ไขปัญหาความยากจน โดยการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ เช่น การปลูกป่า สร้างความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ในระดับชุมชน ให้มีกลไกที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพและให้ชุมชนสามารถตัดสินใจและนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนได้
3.5.2 ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การลดหนี้หรือยืดเวลาชำระหนี้ หรือลดอัตราดอกเบี้ย หรือพักชำระดอกเบี้ย
3.5.3 เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขปัญหาคุณภาพการอยู่อาศัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมชุมชน โดยเฉพาะชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้ดียิ่งขึ้น โดยปรับปรุงคุณภาพและขยายการให้บริการสาธารณูปโภคให้ทั่วถึง ปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐด้านการเคหะและการอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิการทำงานขององค์กร รวมถึงพิจารณาจัดตั้งองค์กรในลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้ดียิ่งขึ้น
3.5.4 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเน้นบทบาทของสถาบันทางสังคม ชุมชน และเป็นเครือข่ายในการคุ้มครองทางสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งส่งเสริมการนำศักยภาพผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศ การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาสู่สังคม ส่งเสริมการออม และสร้างระบบประกันชราภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมั่นคง
3.5.5 ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกมิติ โดยการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ จัดตั้งองค์กรอิสระผู้บริโภค บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่ให้การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคโดยเคร่งครัด รวมทั้งการใช้กลไกทางกฎหมายในการป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคในด้านอื่น ๆ เช่น การโฆษณาเกินเวลา การโฆษณาแฝงหรือการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น
3.5.6 ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ขจัดการกระทำความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก สตรี และผู้พิการ ให้การคุ้มครองและส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้
3.5.7 เร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.5.8 เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยส่งเสริมให้มีระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาระบบข้อมูล ข่าวสาร การเตือนภัย และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในการป้องกันปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปรับปรุงระบบชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน
3.6 นโยบายการกีฬาและนันทนาการ
3.6.1 เสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬา จัดหาสถานที่จัดกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีความสนใจในการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3.6.2 พัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ พร้อมทั้งนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ จัดให้มีการควบคุมมาตรฐานการฝึกสอนด้านการกีฬาให้มีคุณภาพ และสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
3.6.3 ส่งเสริมกีฬาไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับจากสากลยิ่งขึ้น
3.6.4 ปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านการกีฬา โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการกีฬา จัดกิจกรรมและสถานกีฬา รวมทั้งจัดสร้างลานกีฬาในทุกหมู่บ้านและชุมชน
3.6.5 ปรับปรุงกฎหมายการกีฬาและที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีกฎหมายกีฬาอาชีพ กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการนักกีฬา และกฎหมายอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการด้านกีฬาให้มีประสิทธิภาพ
4. นโยบายเศรษฐกิจ
4.1 นโยบายการบริหารเศรษฐกิจมหภาค
4.1.1 สนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพของระดับราคา และการจ้างงาน
4.1.2 สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในประเทศ บริหารสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศ และดูแลการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ โดยติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือทางด้านการเงินภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค
4.1.3 พัฒนาตลาดทุนและระบบสถาบันการเงินให้เข้มแข็งและสามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของสภาวะการเงินโลก และให้สามารถสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง โดยการแก้ไขกฎ ระเบียบ และวางระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อเป็นฐานการระดมทุนของประเทศในอนาคต
4.1.4 ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณของประเทศให้สอดคล้องกับกำลังเงินของแผ่นดิน รวมทั้งเร่งออกกฎหมายการเงินการคลังของรัฐเพื่อให้เป็นกลไกในการกำกับและเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติที่ดี
4.1.5 ปรับปรุงโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงาน และพลังงานทางเลือก
4.1.6 กำหนดกรอบการลงทุนภาครัฐ ทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวที่มีความชัดเจนของแหล่งเงิน รูปแบบการลงทุน และการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและกลไกการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงวินัยการคลัง และภาระงบประมาณของภาครัฐ
4.1.7 ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการ การใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดต้นทุนดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมีระบบการกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน และการเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย
4.2 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
4.2.1 ภาคเกษตร
4.2.1.1 เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้านการเกษตร โดยส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ จัดหาปัจจัยการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่มีคุณภาพและมีความจำเป็นพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาและระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร รวมทั้งการจัดพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับพืชพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร
4.2.1.2 ส่งเสริมอาชีพและขยายโอกาสการทำประมง โดยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงชายฝั่ง และประมงน้ำจืด ทั้งในระดับพื้นบ้านและเชิงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าประมงโดยท้องถิ่นมีส่วนร่วม ปรับปรุงกฎหมายและเขตจับสัตว์น้ำให้ชัดเจนระหว่างประมงเพื่อการพาณิชย์และประมงชายฝั่ง และบังคับใช้โดยเคร่งครัด รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ควบคู่กับการเจรจาส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมงกับต่างประเทศในการทำประมงนอกและในน่านน้ำสากล และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในกิจการประมง รวมทั้งจัดตั้งองค์กรระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการประมงของประเทศ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง
4.2.1.3 พัฒนาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ โดยปรับปรุงและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เศรษฐกิจสำคัญ อาทิ โค กระบือ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พัฒนาศักยภาพในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ พัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในตลาดโลก รวมทั้งส่งเสริมการทำปศุสัตว์อินทรีย์ครัวเรือนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.2.1.4 ดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและการตลาดสินค้าเกษตร โดยจัดให้มีระบบประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีความเข้มแข็ง สร้างตลาดกลางเพื่อการค้าส่งและค้าปลีกสินค้าเกษตรในทุกภูมิภาค ผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรแห่งใหม่ให้ครอบคลุมทั่วโลก และส่งเสริมระบบเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งใช้ระบบไตรภาคีภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร
4.2.1.5 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยด้านสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากลในระดับชุมชน และมีการเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล ส่งเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้า จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสนับสนุนเงินทุนพัฒนาเครื่องจักรเพื่อแปรรูปขั้นต้นของสินค้าเกษตร
4.2.1.6 สร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ขยายกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการอาหารกลางวัน และธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ และสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร
4.2.1.7 เร่งรัดการจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการผลิตทางการเกษตร โดยเน้นการเพิ่มสระน้ำในไร่นาและขุดลอกคูคลองเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชนิดพืช เพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตลอดจนขยายระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ
4.2.1.8 คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร
4.2.1.9 พัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง โดยสร้างและพัฒนาคุณภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตและการบริหารองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้จากนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภาคเกษตรและสังคมไทย
4.2.1.10 แก้ไขปัญหาหนี้สิน ฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเร่งดำเนินการจัดการหนี้สินของเกษตรกรทั้งในและนอกระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และรักษาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร
4.2.2 ภาคอุตสาหกรรม
4.2.2.1 สร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับอุตสาหกรรมไทยด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร พัฒนาการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความร่วมมือในภูมิภาคในการผลิตสินค้าเชิงลูกโซ่ผ่านการเจรจาระหว่างประเทศ
4.2.2.2 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรภายในประเทศ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอัญมณี เป็นต้น โดยปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีให้สามารถจูงใจนักลงทุนได้ และส่งเสริมการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
4.2.2.3 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ทัดเทียมและล้ำหน้าในระดับสากล โดยสนับสนุนให้มีกลไกการระดมทุนและประกันความเสี่ยงให้กับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งให้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศและมีตราสัญลักษณ์ไทย
4.2.2.4 เร่งผลิตบุคลากรด้านอาชีวะตามความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มค่าตอบแทนให้ใกล้เคียงกับปริญญาตรี และกำหนดหลักสูตรให้สามารถต่อยอดในระดับปริญญาได้
4.2.2.5 สร้างความเข็มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งเครือข่ายรวมกลุ่ม และปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ขยายขอบเขตการดำเนินการให้สินเชื่อ และประกันสินเชื่อ โดยใช้เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้
4.2.2.6 จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
4.2.2.7 ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการและสิ่งแวดล้อม
4.2.2 ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
4.2.3.1 ขยายฐานภาคบริการในโครงสร้างการผลิตของประเทศ โดยเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจบริการ เพิ่มมูลค่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาแรงงานฝีมือทั้งในด้านคุณภาพและความรู้ด้านภาษา และเชื่อมโยงธุรกิจ ภาคบริการ อุตสาหกรรม และเกษตรเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจสุขภาพ อาหารและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
4.2.3.2 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งของรัฐและเอกชน โดยรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยวและกำหนดจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละภาคและกลุ่มจังหวัดให้มีความเหมาะสมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น กรุงเทพมหานครที่ทรงเสน่ห์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางอารยธรรมล้านนา ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมและชายแดน ภาคกลางเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอารยธรรม มรดกโลกและมรดกธรรมชาติ เป็นต้น
4.2.3.3 พัฒนามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีมาตรฐานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น มาตรฐานธุรกิจนำเที่ยว มาตรฐานการเดินทาง มาตรฐานร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก มาตรฐานที่พักและโรงแรม เป็นต้น รวมทั้งพัฒนามาตรฐานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ พนักงานร้านอาหาร พนักงานรถนำเที่ยว เป็นต้น และปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งในด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และค่าธรรมเนียมและค่าบริการของรัฐ
4.2.3.4 พัฒนาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านการตลาด และกำหนดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนจุดขายที่มีความโดดเด่นของไทยให้เป็นศูนย์กลางระดับโลก โดยเฉพาะความพร้อมของการให้บริการทางด้านศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
4.2.3.5 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดให้มีความทันสมัยและสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
4.2.4 การตลาด การค้า และการลงทุน
4.2.4.1 ส่งเสริมระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำทางธุรกิจ รัฐเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และดูแล และให้มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอน ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ความคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งออกกฎหมายค้าปลีกเพื่อกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นระบบโดยให้ธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน
4.2.4.2 ขยายตลาดสินค้าและบริการส่งออกของไทยโดยกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดที่มีอยู่แล้วและขยายฐานการตลาดไปสู่ประเทศใหม่ ๆ เช่น ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชีย เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาระบบการกระจายสินค้าให้รวดเร็วโดยใช้ความได้เปรียบในเชิงแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และศักยภาพการขนส่งของไทย
4.2.4.3 ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ควบคู่ไปกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีปัญหา ทั้งที่อยู่ระหว่างการเจรจา และที่ได้มีการเจรจาไปแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4.2.4.4 ปรับปรุงมาตรการบริหารการนำเข้า เพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม การทุ่มตลาด และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย
4.2.4.5 ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยในต่างประเทศ
4.2.4.6 ส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าอาหารและบริการฮาลาล อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สินค้าและบริการที่ใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญา การลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.2.4.7 ปรับปรุงประสิทธิภาพและจัดระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนชายแดน โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริการครบวงจร ระบบอำนวยความสะดวกช่องทางเดียว ระบบการตรวจร่วมจุดเดียว ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4.2.4.8 ปรับปรุงและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์เรื่องภาษี โดยยกระดับหน่วยงานพิจารณาเรื่องอุทธรณ์จากระดับกรมขึ้นมาอยู่ในระดับกระทรวง และให้ตัวแทนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินอุทธรณ์เช่นเดียวกับผู้พิพากษาสมทบ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดเวลาแน่นอนในการวินิจฉัยคำอุทธรณ์
4.3 นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.3.1 ขยายการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพียงพอ และมีคุณภาพ ทั้งบริการน้ำสะอาด ไฟฟ้า สื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐาน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งพัฒนาถนนไร้ฝุ่น โดยยกระดับมาตรฐานทางในชนบทเป็นถนนคอนกรีตหรือลาดยาง
4.3.2 พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์อย่างบูรณาการ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง
4.3.3 พัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเชื่อมโยงการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่ง เช่น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาค เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนโลจิสติกส์
4.3.4 พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความสมบูรณ์ และรถไฟชานเมืองให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งขยายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไปยังเมืองหลักในภูมิภาค
4.3.5 พัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งหนาแน่น และพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงฐานการผลิตในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ปรับปรุงบูรณะทาง รวมทั้งพัฒนาการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่ง
4.3.6 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายประธาน สายหลัก และโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ให้เชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาคและเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟ รวมทั้งการปรับปรุงทางหลวงและมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า
4.3.7 พัฒนากิจการพาณิชยนาวี และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังให้มีมาตรฐานเป็นท่าเรือที่ทันสมัยระดับโลก พัฒนาการขนส่งชายฝั่ง และการขนส่งทางน้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น
4.3.8 พัฒนาและขยายความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานหลักในภูมิภาค ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้อย่างเพียงพอในอนาคต พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชีย
4.3.9 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องด้านการขนส่ง เช่น การต่อเรือ การต่อตู้รถไฟและรถไฟฟ้า เป็นต้น โดยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
4.3.10 เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลการพัฒนาและการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม
4.3.11 พัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคและเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ แนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน และโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย รวมทั้งปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามแดนในพื้นที่บริเวณชายแดนที่สำคัญ คือ ด่านหนองคาย แม่สอด มุกดาหาร สระแก้ว ด่านสิงขร และช่องเม็ก เป็นต้น
4.4 นโยบายพลังงาน
4.4.1 พัฒนาพลังงานให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยจัดหาพลังงานให้เพียงพอ มีเสถียรภาพ ด้วยการเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเร่งให้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐบาลเพื่อร่วมพัฒนาแหล่งพลังงาน วางแผนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดหา ความผันผวนทางด้านราคา และลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า
4.4.2 ดำเนินการให้นโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ (อี 10 อี 20 และอี 85) ไบโอดีเซล ขยะ และมูลสัตว์ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดภาวะมลพิษ และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรโดยสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับชุมชน หมู่บ้าน ภายใต้มาตรการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งให้มากขึ้น โดยขยายระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
4.4.3 กำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมีเสถียรภาพ และเป็นธรรมต่อประชาชน โดยกำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพัฒนาพืชพลังงาน รวมทั้งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด และบริหารจัดการผ่านกลไกตลาดและกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย
4.4.4 ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และมาตรการสนับสนุนให้ครัวเรือนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด รวมทั้งการวิจัยพัฒนาและกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้าและมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งระบบราง เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ
4.4.5 ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
4.5 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
4.5.1 พัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างทั่วถึงและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ รวมทั้งพัฒนาบริการสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของภาคธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐ บริการศึกษา บริการสาธารณสุข และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.5.2 พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค
5. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.1 คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรทางทะแลและชายฝั่ง รวมทั้งฟื้นฟูอุทยานทางทะเลอย่างเป็นระบบ เร่งจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจัดแบ่งประเภทที่ดินระหว่างที่ดินของรัฐและเอกชนให้ชัดเจน เร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กำหนดเขตและส่งเสริมการปลูกป่า ป่าชุมชน เพิ่มฝายต้นน้ำลำธารและฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดไฟป่า ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจัง ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน ลดการใช้สารเคมีและฟื้นฟูดินในบริเวณพื้นที่ที่ดินมีปัญหา รวมทั้งจัดให้มีระบบบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภค
5.2 คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ความหลายทางชีวภาพ โดยสำรวจ จัดทำระบบฐานข้อมูล อนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารพลังงาน สุขภาพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้การคุ้มครองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางชีวภาพ
5.3 จัดให้มีระบบการป้องกัน รวมทั้งเตือนภัยและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยนำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเตือนภัยพิบัติ พัฒนาระบบฐานข้อมูล และติดตั้งระบบเตือนภัย และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางหรือเสี่ยงภัยต่อภัยพิบัติอันเกิดจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินหรือโคลนถล่ม น้ำแล้ง ตลอดจนธรณีพิบัติและการเกิดคลื่นยักษ์ในทะเล เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
5.4 ควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายมาเป็นมลพิษทั้งในรูปขยะ ขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง และน้ำเสีย โดยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการป้องกันมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะชุมชนกลางในทุกจังหวัด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ก่อมลพิษที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เร่งแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ที่วิกฤตซ้ำซาก รวมทั้งสนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษีและสิทธิต่าง ๆ กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษ
5.5 พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ชุมชนและนักวิชาการในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และที่ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด และช่วยลดมลพิษ
5.6 ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปของสมัชชาสิ่งแวดล้อมมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และจัดให้มีการใช้ระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นกลไกกำกับให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งสนองโครงการพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอย่างจริงจัง
6. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม
6.1 ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง
6.2 เร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและบุคลากรด้านการวิจัยให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิต โดยพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ และมีหน่วยงานวิจัยที่สามารถรองรับบุคลากรได้อย่างเพียงพอ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม ศูนย์แห่งความเป็นเลิศและอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
6.3 ปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยจัดให้มีกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชนที่รัฐลงทุนร้อยละ 50 และจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคเอกชนที่เข้าร่วมงานวิจัย เพิ่มเติมงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานของงานวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจรที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รายได้และการจ้างงาน และการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ให้มีโครงการวิจัยที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ยา เคมีภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าเกษตร โดยเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สภาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจ
7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
7.1 พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติและทุกระดับ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค โดยส่งเสริมความร่วมมือในทุกสาขากับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆ และเร่งแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
7.2 ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียนในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน โดยให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเคารพสิทธิมนุษยชน และผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศในเอเชียอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และระหว่างเอเชียกับภูมิภาคอื่น
7.3 ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
7.4 กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกและประเทศคู่ค้าของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรักษาและขยายความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพยากร วัตถุดิบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่
7.5 ส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลก ในเรื่องการกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้าเกษตร และกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องรักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง การส่งเสริมและคุ้มครองค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาขององค์การระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น
7.6 สนับสนุนการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เร่งรัดการให้สัตยาบันในข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้แล้วและปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนและสังคม
7.7 ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดฉันทามติในการกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายต่างประเทศ
7.8 สร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยและการเข้าถึงระดับประชาชน โดยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นของนานาประเทศ ต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย และสนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศมีทัศนคติในทางบวกต่อประเทศและประชาชนไทย
7.9 คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และภาคธุรกิจเอกชนไทยในต่างประเทศ และสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทยในต่างประเทศ
8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
8.1 ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
8.1.1 สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น
8.1.2 สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความรับผิดชอบต่อชุมชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงาน ตลอดจนการจัดบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น
8.1.3 ปรับบทบาทและภารกิจการบริหารราชการระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจที่สนับสนุนเชื่อมโยงกัน และประสานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง
8.1.4 บูรณาการความเชื่อมโยงของการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่นโดยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภาค ตลอดจนเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนชุมชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผน
8.1.5 สนับสนุนให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร
8.1.6 สร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรมและส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
8.1.7 จัดระบบงานให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็วมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และส่งเสริมพัฒนาระบบบริหารผลงานและสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการส่งมอบบริการสาธารณะ พร้อมทั้งการพัฒนาข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของภาคราชการในอนาคต
8.1.8 ปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เหมาะสมกับความสามารถ และประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่อาจแตกต่างกันตามพื้นที่ ตามการแข่งขันของการจ้างงานในแต่ละสายอาชีพที่เหมาะสม และตามความจำเป็นเพื่อรักษาคนเก่ง คนดีไว้ในราชการ รวมทั้งการสร้างความสมดุลของคุณภาพชีวิตข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจที่จะปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
8.2 กฎหมายและการยุติธรรม
8.2.1 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบหรือทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ขยายและยกเลิกอายุความในคดีอาญาบางประเภทและคดีทุจริต ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกระดับอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ส่งเสริมคุณธรรมคู่ความรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง”
8.2.2 พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีระบบการอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกกลุ่ม โดยส่งเสริมให้มีการนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และหลักการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ให้มีการจัดตั้งองค์กรประนอมข้อพิพาท มีกระบวนการชะลอการฟ้องสำหรับคดีประมาท คดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเป็นอย่างน้อย มีระบบหรือกระบวนการให้สามารถพิจารณาคดีได้รวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น
8.2.3 พัฒนากฎหมายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ปรับระบบงานและกระบวนการให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย และองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการทางกฎหมายของหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็น หรือตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักนิติธรรม
8.2.4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ภาคใต้การใช้อาสาสมัครเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นป้องกันอาชญากรรม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การตรวจสอบ การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษสามารถกลับสู่ชุมชนมาใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติสุข ตลอดจนจัดให้มีบริการด้านทนายและการปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย
8.2.5 พัฒนาระบบและวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนและผู้ใหญ่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโอกาสในการแก้ไข ฟื้นฟู และสามารถกลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพที่ผู้กระทำความผิดพึงได้รับ
8.2.6 สนับสนุนและพัฒนาตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นตำรวจมืออาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี รวมทั้งดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจของตำรวจทั้งในส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักและกระจายอำนาจการบริหารไปยังส่วนภูมิภาค
8.2.7 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผลการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้ใช้อำนาจรัฐอื่น ๆ
8.3 สื่อและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
8.3.1 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
8.3.2 ปรับปรุงกลไกการสื่อสารภาครัฐให้ดำรงบทบาทสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะและสร้างความสมานฉันท์ในชาติ
8.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
8.3.4 จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลขอชี้แจงว่า การกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่กราบเรียนมาแล้วนี้ จะเป็นแนวทางดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี ตามความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายที่ต้องตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย และการสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และการปรับปรุงหรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนดำเนินการทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ โดยถือเป็นนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ด้วย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
เมื่อการแถลงนโยบายนี้เสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ และแผนการตรากฎหมายไว้เป็นคู่มือและแนวทางการทำงานต่อไป
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงขอบคุณครับ
ที่มา-กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (30 ธ.ค.) เวลา 11.30 น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังนี้
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาล จะดำเนินการเพื่อนำสังคมไทยกลับคืนสู่ความสมัครสมานสามัคคี เอื้ออาทร และคนไทยมีความสุขถ้วนหน้า พร้อมทั้งนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลนี้เข้าบริหารประเทศในช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งและมีความแตกแยก เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการเมืองและการบริหารประเทศ ความขัดแย้งดังกล่าวระหว่างกลุ่มประชาชนได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลให้การบริหารบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาขาดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศในเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญเร่งด่วน และมีผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นจุดอ่อนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ
วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เริ่มต้นจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลเชื่อมโยงถึงระบบการเงินของประเทศต่าง ๆ ในโลก ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ได้มีผลต่อสถาบันการเงินของประเทศไทยโดยตรง แต่ก็มีผลกระทบให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาติออกจากประเทศในช่วงดังกล่าว และส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีเมื่อเดือนตุลาคม
ความเสียหายต่อระบบการเงินอย่างรุนแรงได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขณะนี้หลายอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ การบิน และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น กำลังประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นที่อาจจะล้มละลาย และได้มีการปลดคนงานออกแล้วเป็นจำนวนหลายล้านคน เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.6 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 22.6 จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกันยายนลดลงร้อยละ 16.5 เทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา ยอดมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือน ลดลงประมาณร้อยละ 40 และภาคการก่อสร้างอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงประมาณการรายได้ของรัฐบาลในรูปภาษีและรายได้อื่น ๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีแนวโน้มจะปรับลดลงจากประมาณการเดิมประมาณร้อยละ 10
ในปี 2552 เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นประเทศไทยจะเผชิญกับการชะลอตัวของการส่งออก การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลดลงของราคาสินค้าเกษตร และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้นแนวโน้มจำนวนคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนคนในปัจจุบันเป็น 1 ล้านคน อันจะส่งผลให้ความยากจน ปัญหาสังคมและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งขยายไปสู่ความขัดแย้งในภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว จะทำให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากปัญหาสำคัญเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่ปัญหาพื้นฐานระยะยาวของประเทศไทยซึ่งเป็นสิ่งที่จะละเลยมิได้ ในปัจจุบันคนไทยยังมีการศึกษาโดยเฉลี่ยประมาณ 9 ปี น้อยกว่าประเทศในแถบเอเชียซึ่งมีการศึกษาเฉลี่ยประมาณ 10 ถึง 12 ปี คุณภาพของการศึกษายังมีปัญหาส่งผลให้สัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนต่ำกว่ามาตรฐานในวิชาสำคัญ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านี้รักษาให้หายได้ยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ดังนั้นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การเตรียมการสำหรับสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ความมั่นคงของอาหารและพลังงานของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างสรรค์ การแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ การพัฒนาธรรมาภิบาล การพัฒนาพื้นที่และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาค และการร่วมมือในการพัฒนาอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน แก้ไขวิกฤตทางสังคมที่มีความแตกแยกและพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยุติวิกฤตทางการเมืองและปฏิรูปการเมืองให้มีความมั่นคงตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการนี้รัฐบาลจะดำเนินการให้บรรลุภารกิจดังกล่าวภายใต้แนวทางพื้นฐานหลัก 4 ประการคือ
หนึ่ง ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ
สอง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ บนพื้นฐานของความถูกต้อง ยุติธรรมและการยอมรับของทุกภาคส่วน
สาม ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ประชาชนจะประสบ
สี่ พัฒนาประชาธิปไตยและระบบการเมือง ให้มีความมั่นคง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสากล
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการใช้คุณธรรมนำความรู้ และจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเคร่งครัด โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการและมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในปีแรกอย่างชัดเจน และระยะการบริหารราชการ 3 ปีของรัฐบาลซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
1.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
1.1 การสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชนและเอกชนในการลงทุนและการบริโภค
1.1.1 เสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยใช้แนวทางสันติ รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชาติในทุกกรณี รวมทั้งฟื้นฟูระเบียบสังคมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ตลอดจนสนับสนุนองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์ ภายใต้กรอบของบทบาทอำนาจและหน้าที่ขององค์กร
1.1.2 จัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์และแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม กำหนดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งสนับสนุนให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
1.1.3 ปฏิรูปการเมือง โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อวางระบบการบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ ในแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย รวมทั้งสามารถสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
1.1.4 เร่งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของชาวโลก โดยให้ความสำคัญต่อกรอบความร่วมมืออาเซียนเป็นลำดับแรก และร่วมมือกับรัฐสภาในการพิจารณาอนุมัติเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนจะต้องลงนามในช่วงของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2552 และเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน
1.1.5 ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นที่ครอบคลุมภาคเกษตรและเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอสังหาริมทรัพย์ การสร้างงานและสร้างรายได้ในชนบท การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและฟื้นฟูทรัพยากร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2552 พร้อมทั้งจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเพื่อให้สามารถบรรเทาภาวะความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจได้
1.1.6 เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเร่งรัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ และปรับแผนงบประมาณของส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 อยู่แล้ว เพื่อใช้ในการจัดการฝึกอบรมและสัมมนาให้กระจายทั่วประเทศ รวมทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
1.1.7 เร่งลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่โครงการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน ให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในปี 2552 โดยให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของประชาชน การรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการรักษาวินัยการคลังของประเทศ รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
1.2 การรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน
1.2.1 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน
1.2.2 ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อรองรับปัญหาแรงงานว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมและนักศึกษาจบใหม่ โดยจัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานประมาณ 500,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี ตามกลุ่มความถนัดและศักยภาพ และรองรับแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วิสาหกิจและธุรกิจชุมชน
1.2.3 เร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้างและผู้ว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้ตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงาน และการเพิ่มพูนทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และการดำเนินโครงการสานฝันแรงงานคืนถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้างงานและจัดที่ทำกิน ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งทุน สำหรับแรงงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเลิกจ้างให้คืนสู่ภาคเกษตร
1.2.4 สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ โดยจัดสรรเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่แสดงความจำนงโดยการขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ รวมทั้งขยายเพดานให้กู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุเป็น 30,000 บาทต่อราย
1.2.5 เพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนและกระตุ้นธุรกิจในสาขาที่ได้รับผลกระทบ
1.2.6 สร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินที่เคยจัดสรรให้เดิม เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเร่งรัดและลดขั้นตอนของภาครัฐเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว
1.2.7 ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเร่งสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเกษตร ทั้งระบบประกันความเสี่ยงราคาพืชผลผ่านกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและระบบประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ
1.2.8 เร่งรัดและพัฒนาตลาดและระบบการกระจายสินค้าของสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก
1.2.9 จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ และมีระบบการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
1.2.10 ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศให้ปฏิบัติงานเชิงรุก ในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน โดยจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทนให้แก่ อสม.เพื่อสร้างแรงจูงใจหนุนเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
1.3 การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
1.3.1 ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี โดยสนับสนุนตำราในวิชาหลักให้แก่ทุกโรงเรียน จัดให้มีชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนฟรีให้ทันปีการศึกษา 2552 และสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยรายการต่างๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บจากผู้ปกครอง
1.3.2 กำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ ให้มีราคาที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนอย่างเหมาะสม และไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
1.3.3 ดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ในส่วนของการเดินทาง ก๊าซหุงต้ม และบริการด้านสาธารณูปโภค โดยปรับปรุงมาตรการที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด
1.3.4 ใช้กองทุนน้ำมันในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการใช้น้ำมันอย่างประหยัด
1.4 จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนในการปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ในส่วนของนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีของรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายหลักในการบริหารประเทศซึ่งปรากฏตามนโยบายข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 8 ดังต่อไปนี้
2. นโยบายความมั่นคงของรัฐ
2.1 ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ โดยการเสริมสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งป้องกันอย่างจริงจังมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพ
2.2 เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศให้มีความพร้อมในการรักษาเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติ โดยการเตรียมความพร้อมของกองทัพ การฝึกกำลังพลให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติภารกิจ และการจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละเหล่าทัพ ตลอดจนจัดให้มีแผนการสำรองอาวุธและพลังงานเพื่อความมั่นคง สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เอง ปรับสิทธิประโยชน์กำลังพล เบี้ยเลี้ยง และค่าเสบียงสนามของทหารหลักและทหารพราน รวมทั้งสวัสดิการของกำลังพลให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ พัฒนาความร่วมมือทางการทหารกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศอื่น ๆ และส่งเสริมบทบาทในการรักษาสันติภาพของโลกภายใต้กรอบสหประชาชาติ
2.3 เสริมสร้างสันติภาพของการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาโดยสันติวิธี ให้ความสำคัญกับการสำรวจและการปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามข้อตกลงและสนธิสัญญา ประสานงานและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในบริเวณชายแดน
2.4 แก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยการปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบชายแดน และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ชัดเจน บนความสมดุลระหว่างการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลกับการรักษาความมั่นคงของชาติ
2.5 เสริมสร้างศักยภาพในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ โดยให้ความสำคัญแก่การพัฒนาระบบและกลไกต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ รวมทั้งพัฒนากฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับนานาประเทศและส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กรอบสหประชาชาติ
3. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
3.1 นโยบายการศึกษา
3.1.1 ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง
3.1.2 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้สนองตอบความต้องการด้านบุคลากรของภาคเศรษฐกิจ
3.1.3 พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า
3.1.4 จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน
3.1.5 ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา
3.1.6 ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีการประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้ รวมทั้งขยายกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น
3.1.7 ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้
3.1.8 เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานในการบูรณาการทุกมิติ และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา
3.2 นโยบายแรงงาน
3.2.1 ดำเนินการให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทย โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพการจ้างงาน โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบการผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการปฏิบัติต่อแรงงานด้านสิทธิและคุ้มครองให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล
3.2.2 ปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส และขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน
3.2.3 พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานด้วยการระดมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในลักษณะโรงเรียนในโรงงาน และการบูรณาการกับสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน
3.2.4 ส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการสนับสนุนด้านสินเชื่อการไปทำงานในต่างประเทศ การฝึกอบรมทักษะฝีมือและทักษะการใช้ภาษา การสร้างหลักประกัน การคุ้มครองดูแลการจัดส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ และการติดตามดูแลมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบระหว่างการทำงานในต่างประเทศ
3.2.5 สนับสนุนสวัสดิการด้านแรงงาน โดยจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน จัดให้มีสถานดูแลเด็กอ่อนในสถานประกอบการ และเพิ่มศักยภาพกองทุนเงินทดแทนในการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งจัดระบบดูแลด้านสวัสดิการแรงงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบ และส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในระบบไตรภาคี เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ
3.2.6 จัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต ไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานไทย และความมั่นคงของประเทศ โดยการจัดจำแนกประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำ และการจัดระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว การขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และการจัดทำทะเบียนแรงงานต่างด้าวและระบบการตรวจสอบที่สะดวกต่อการควบคุม
3.2.7 ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการ โดยการกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมตามความสามารถของผู้สูงอายุและคนพิการ อาทิ การทำงานแบบบางเวลา การทำงานชั่วคราว การทำงานแบบสัญญาระยะสั้น รวมทั้งการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน
3.3 นโยบายด้านสาธารณสุข
3.3.1 สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอนามัย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดสรรทุนให้เพื่อกลับมาทำงานในท้องถิ่น
3.3.2 สร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค วินิจฉัย และดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาการป่วยและตายด้วยโรคอุบัติใหม่ที่รวมถึงโรคที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ และโรคระบาดซ้ำในคน อย่างทันต่อสถานการณ์
3.3.3 ปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐในทุกระดับให้ได้มาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีคุณภาพอย่างเพียงพอ ทั่วถึง มีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมได้ถึงการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
3.3.4 ลงทุนผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควบคู่กับการสร้างขวัญกำลังใจให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้มีรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพด้านการแพทย์ มีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนการลงทุนพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพให้ทันสมัย มีมาตรฐานสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า
3.3.5 ผลักดันการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในระดับนานาชาติ โดยมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม มีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.4 นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
3.4.1 ส่งเสริมการทำนุบำรุงและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยทุกด้าน รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย ให้มีความก้าวหน้า มีการค้นคว้า วิจัย ฟื้นฟู และพัฒนา พร้อมทั้งฟื้นฟูต่อยอดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
3.4.2 เสริมสร้างบทบาทของสถาบันครอบครัวร่วมกับสถานบันทางศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันทางสังคมอื่น ๆ ในการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีและการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ สร้างกระแสเชิงบวกให้แก่สังคม และเปิดพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
3.4.3 สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมที่ดีงาม และความเป็นไทยเพื่อการศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่สู่สังคมโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวโลกและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
3.4.4 ส่งเสริมการปรับปรุงองค์กรและกลไกที่รับผิดชอบด้านศาสนา เพื่อให้การบริหารจัดการ ส่งเสริม ทำนุบำรุงศาสนา มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา เพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น
3.5 นโยบายสวัสดิการสังคม และความมั่นคงของมนุษย์
3.5.1 แก้ไขปัญหาความยากจน โดยการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ เช่น การปลูกป่า สร้างความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ในระดับชุมชน ให้มีกลไกที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพและให้ชุมชนสามารถตัดสินใจและนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนได้
3.5.2 ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การลดหนี้หรือยืดเวลาชำระหนี้ หรือลดอัตราดอกเบี้ย หรือพักชำระดอกเบี้ย
3.5.3 เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขปัญหาคุณภาพการอยู่อาศัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมชุมชน โดยเฉพาะชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้ดียิ่งขึ้น โดยปรับปรุงคุณภาพและขยายการให้บริการสาธารณูปโภคให้ทั่วถึง ปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐด้านการเคหะและการอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิการทำงานขององค์กร รวมถึงพิจารณาจัดตั้งองค์กรในลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้ดียิ่งขึ้น
3.5.4 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเน้นบทบาทของสถาบันทางสังคม ชุมชน และเป็นเครือข่ายในการคุ้มครองทางสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งส่งเสริมการนำศักยภาพผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศ การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาสู่สังคม ส่งเสริมการออม และสร้างระบบประกันชราภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมั่นคง
3.5.5 ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกมิติ โดยการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ จัดตั้งองค์กรอิสระผู้บริโภค บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่ให้การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคโดยเคร่งครัด รวมทั้งการใช้กลไกทางกฎหมายในการป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคในด้านอื่น ๆ เช่น การโฆษณาเกินเวลา การโฆษณาแฝงหรือการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น
3.5.6 ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ขจัดการกระทำความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก สตรี และผู้พิการ ให้การคุ้มครองและส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้
3.5.7 เร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.5.8 เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยส่งเสริมให้มีระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการพัฒนาระบบข้อมูล ข่าวสาร การเตือนภัย และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในการป้องกันปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปรับปรุงระบบชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน
3.6 นโยบายการกีฬาและนันทนาการ
3.6.1 เสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬา จัดหาสถานที่จัดกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีความสนใจในการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3.6.2 พัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ พร้อมทั้งนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ จัดให้มีการควบคุมมาตรฐานการฝึกสอนด้านการกีฬาให้มีคุณภาพ และสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
3.6.3 ส่งเสริมกีฬาไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับจากสากลยิ่งขึ้น
3.6.4 ปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านการกีฬา โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการกีฬา จัดกิจกรรมและสถานกีฬา รวมทั้งจัดสร้างลานกีฬาในทุกหมู่บ้านและชุมชน
3.6.5 ปรับปรุงกฎหมายการกีฬาและที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีกฎหมายกีฬาอาชีพ กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการนักกีฬา และกฎหมายอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการด้านกีฬาให้มีประสิทธิภาพ
4. นโยบายเศรษฐกิจ
4.1 นโยบายการบริหารเศรษฐกิจมหภาค
4.1.1 สนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เสถียรภาพของระดับราคา และการจ้างงาน
4.1.2 สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในประเทศ บริหารสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศ และดูแลการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ โดยติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือทางด้านการเงินภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค
4.1.3 พัฒนาตลาดทุนและระบบสถาบันการเงินให้เข้มแข็งและสามารถรองรับผลกระทบจากความผันผวนของสภาวะการเงินโลก และให้สามารถสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง โดยการแก้ไขกฎ ระเบียบ และวางระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อเป็นฐานการระดมทุนของประเทศในอนาคต
4.1.4 ส่งเสริมและรักษาวินัยการคลัง โดยปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณของประเทศให้สอดคล้องกับกำลังเงินของแผ่นดิน รวมทั้งเร่งออกกฎหมายการเงินการคลังของรัฐเพื่อให้เป็นกลไกในการกำกับและเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติที่ดี
4.1.5 ปรับปรุงโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงาน และพลังงานทางเลือก
4.1.6 กำหนดกรอบการลงทุนภาครัฐ ทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวที่มีความชัดเจนของแหล่งเงิน รูปแบบการลงทุน และการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและกลไกการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงวินัยการคลัง และภาระงบประมาณของภาครัฐ
4.1.7 ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการ การใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดต้นทุนดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมีระบบการกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน และการเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย
4.2 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
4.2.1 ภาคเกษตร
4.2.1.1 เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้านการเกษตร โดยส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ จัดหาปัจจัยการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่มีคุณภาพและมีความจำเป็นพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาและระบบโลจิสติกส์ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร รวมทั้งการจัดพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับพืชพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร
4.2.1.2 ส่งเสริมอาชีพและขยายโอกาสการทำประมง โดยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงชายฝั่ง และประมงน้ำจืด ทั้งในระดับพื้นบ้านและเชิงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าประมงโดยท้องถิ่นมีส่วนร่วม ปรับปรุงกฎหมายและเขตจับสัตว์น้ำให้ชัดเจนระหว่างประมงเพื่อการพาณิชย์และประมงชายฝั่ง และบังคับใช้โดยเคร่งครัด รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ควบคู่กับการเจรจาส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมงกับต่างประเทศในการทำประมงนอกและในน่านน้ำสากล และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในกิจการประมง รวมทั้งจัดตั้งองค์กรระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการประมงของประเทศ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง
4.2.1.3 พัฒนาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ โดยปรับปรุงและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เศรษฐกิจสำคัญ อาทิ โค กระบือ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พัฒนาศักยภาพในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ พัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในตลาดโลก รวมทั้งส่งเสริมการทำปศุสัตว์อินทรีย์ครัวเรือนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.2.1.4 ดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและการตลาดสินค้าเกษตร โดยจัดให้มีระบบประกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีความเข้มแข็ง สร้างตลาดกลางเพื่อการค้าส่งและค้าปลีกสินค้าเกษตรในทุกภูมิภาค ผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรแห่งใหม่ให้ครอบคลุมทั่วโลก และส่งเสริมระบบเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งใช้ระบบไตรภาคีภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร
4.2.1.5 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยด้านสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากลในระดับชุมชน และมีการเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล ส่งเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้า จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสนับสนุนเงินทุนพัฒนาเครื่องจักรเพื่อแปรรูปขั้นต้นของสินค้าเกษตร
4.2.1.6 สร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ขยายกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการอาหารกลางวัน และธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ และสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร
4.2.1.7 เร่งรัดการจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการผลิตทางการเกษตร โดยเน้นการเพิ่มสระน้ำในไร่นาและขุดลอกคูคลองเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชนิดพืช เพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตลอดจนขยายระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ
4.2.1.8 คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร
4.2.1.9 พัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง โดยสร้างและพัฒนาคุณภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตและการบริหารองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้จากนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภาคเกษตรและสังคมไทย
4.2.1.10 แก้ไขปัญหาหนี้สิน ฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเร่งดำเนินการจัดการหนี้สินของเกษตรกรทั้งในและนอกระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และรักษาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร
4.2.2 ภาคอุตสาหกรรม
4.2.2.1 สร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับอุตสาหกรรมไทยด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร พัฒนาการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มความร่วมมือในภูมิภาคในการผลิตสินค้าเชิงลูกโซ่ผ่านการเจรจาระหว่างประเทศ
4.2.2.2 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรภายในประเทศ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอัญมณี เป็นต้น โดยปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีให้สามารถจูงใจนักลงทุนได้ และส่งเสริมการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
4.2.2.3 ร่วมมือกับภาคเอกชนในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ทัดเทียมและล้ำหน้าในระดับสากล โดยสนับสนุนให้มีกลไกการระดมทุนและประกันความเสี่ยงให้กับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งให้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศและมีตราสัญลักษณ์ไทย
4.2.2.4 เร่งผลิตบุคลากรด้านอาชีวะตามความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มค่าตอบแทนให้ใกล้เคียงกับปริญญาตรี และกำหนดหลักสูตรให้สามารถต่อยอดในระดับปริญญาได้
4.2.2.5 สร้างความเข็มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งเครือข่ายรวมกลุ่ม และปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ขยายขอบเขตการดำเนินการให้สินเชื่อ และประกันสินเชื่อ โดยใช้เครือข่ายธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้
4.2.2.6 จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
4.2.2.7 ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการและสิ่งแวดล้อม
4.2.2 ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
4.2.3.1 ขยายฐานภาคบริการในโครงสร้างการผลิตของประเทศ โดยเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจบริการ เพิ่มมูลค่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาแรงงานฝีมือทั้งในด้านคุณภาพและความรู้ด้านภาษา และเชื่อมโยงธุรกิจ ภาคบริการ อุตสาหกรรม และเกษตรเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจสุขภาพ อาหารและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
4.2.3.2 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งของรัฐและเอกชน โดยรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยวและกำหนดจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละภาคและกลุ่มจังหวัดให้มีความเหมาะสมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น กรุงเทพมหานครที่ทรงเสน่ห์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางอารยธรรมล้านนา ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมและชายแดน ภาคกลางเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอารยธรรม มรดกโลกและมรดกธรรมชาติ เป็นต้น
4.2.3.3 พัฒนามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยว โดยจัดให้มีมาตรฐานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น มาตรฐานธุรกิจนำเที่ยว มาตรฐานการเดินทาง มาตรฐานร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก มาตรฐานที่พักและโรงแรม เป็นต้น รวมทั้งพัฒนามาตรฐานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ พนักงานร้านอาหาร พนักงานรถนำเที่ยว เป็นต้น และปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งในด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และค่าธรรมเนียมและค่าบริการของรัฐ
4.2.3.4 พัฒนาด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านการตลาด และกำหนดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนจุดขายที่มีความโดดเด่นของไทยให้เป็นศูนย์กลางระดับโลก โดยเฉพาะความพร้อมของการให้บริการทางด้านศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
4.2.3.5 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดให้มีความทันสมัยและสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
4.2.4 การตลาด การค้า และการลงทุน
4.2.4.1 ส่งเสริมระบบการค้าเสรีและเป็นธรรม โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้นำทางธุรกิจ รัฐเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และดูแล และให้มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอน ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ความคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งออกกฎหมายค้าปลีกเพื่อกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกอย่างเป็นระบบโดยให้ธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน
4.2.4.2 ขยายตลาดสินค้าและบริการส่งออกของไทยโดยกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดที่มีอยู่แล้วและขยายฐานการตลาดไปสู่ประเทศใหม่ ๆ เช่น ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และเอเชีย เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาระบบการกระจายสินค้าให้รวดเร็วโดยใช้ความได้เปรียบในเชิงแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และศักยภาพการขนส่งของไทย
4.2.4.3 ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ควบคู่ไปกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีปัญหา ทั้งที่อยู่ระหว่างการเจรจา และที่ได้มีการเจรจาไปแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
4.2.4.4 ปรับปรุงมาตรการบริหารการนำเข้า เพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม การทุ่มตลาด และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย
4.2.4.5 ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยในต่างประเทศ
4.2.4.6 ส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าอาหารและบริการฮาลาล อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สินค้าและบริการที่ใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญา การลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.2.4.7 ปรับปรุงประสิทธิภาพและจัดระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนชายแดน โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริการครบวงจร ระบบอำนวยความสะดวกช่องทางเดียว ระบบการตรวจร่วมจุดเดียว ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4.2.4.8 ปรับปรุงและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์เรื่องภาษี โดยยกระดับหน่วยงานพิจารณาเรื่องอุทธรณ์จากระดับกรมขึ้นมาอยู่ในระดับกระทรวง และให้ตัวแทนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินอุทธรณ์เช่นเดียวกับผู้พิพากษาสมทบ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดเวลาแน่นอนในการวินิจฉัยคำอุทธรณ์
4.3 นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.3.1 ขยายการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพียงพอ และมีคุณภาพ ทั้งบริการน้ำสะอาด ไฟฟ้า สื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐาน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งพัฒนาถนนไร้ฝุ่น โดยยกระดับมาตรฐานทางในชนบทเป็นถนนคอนกรีตหรือลาดยาง
4.3.2 พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์อย่างบูรณาการ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง
4.3.3 พัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเชื่อมโยงการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่ง เช่น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าในภูมิภาค เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนโลจิสติกส์
4.3.4 พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความสมบูรณ์ และรถไฟชานเมืองให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งขยายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไปยังเมืองหลักในภูมิภาค
4.3.5 พัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งหนาแน่น และพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงฐานการผลิตในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ปรับปรุงบูรณะทาง รวมทั้งพัฒนาการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่ง
4.3.6 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายประธาน สายหลัก และโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ให้เชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาคและเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะโครงข่ายรถไฟ รวมทั้งการปรับปรุงทางหลวงและมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า
4.3.7 พัฒนากิจการพาณิชยนาวี และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังให้มีมาตรฐานเป็นท่าเรือที่ทันสมัยระดับโลก พัฒนาการขนส่งชายฝั่ง และการขนส่งทางน้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น
4.3.8 พัฒนาและขยายความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานหลักในภูมิภาค ให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้อย่างเพียงพอในอนาคต พัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชีย
4.3.9 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องด้านการขนส่ง เช่น การต่อเรือ การต่อตู้รถไฟและรถไฟฟ้า เป็นต้น โดยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
4.3.10 เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลการพัฒนาและการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม
4.3.11 พัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคและเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ แนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน และโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย รวมทั้งปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามแดนในพื้นที่บริเวณชายแดนที่สำคัญ คือ ด่านหนองคาย แม่สอด มุกดาหาร สระแก้ว ด่านสิงขร และช่องเม็ก เป็นต้น
4.4 นโยบายพลังงาน
4.4.1 พัฒนาพลังงานให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยจัดหาพลังงานให้เพียงพอ มีเสถียรภาพ ด้วยการเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเร่งให้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐบาลเพื่อร่วมพัฒนาแหล่งพลังงาน วางแผนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดหา ความผันผวนทางด้านราคา และลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า
4.4.2 ดำเนินการให้นโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล เช่น แก๊สโซฮอล์ (อี 10 อี 20 และอี 85) ไบโอดีเซล ขยะ และมูลสัตว์ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดภาวะมลพิษ และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรโดยสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับชุมชน หมู่บ้าน ภายใต้มาตรการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งให้มากขึ้น โดยขยายระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
4.4.3 กำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมีเสถียรภาพ และเป็นธรรมต่อประชาชน โดยกำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพัฒนาพืชพลังงาน รวมทั้งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด และบริหารจัดการผ่านกลไกตลาดและกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และส่งเสริมการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัย
4.4.4 ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และมาตรการสนับสนุนให้ครัวเรือนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด รวมทั้งการวิจัยพัฒนาและกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้าและมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการขนส่งระบบราง เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ
4.4.5 ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
4.5 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
4.5.1 พัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างทั่วถึงและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ รวมทั้งพัฒนาบริการสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของภาคธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐ บริการศึกษา บริการสาธารณสุข และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.5.2 พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค
5. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.1 คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรทางทะแลและชายฝั่ง รวมทั้งฟื้นฟูอุทยานทางทะเลอย่างเป็นระบบ เร่งจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจัดแบ่งประเภทที่ดินระหว่างที่ดินของรัฐและเอกชนให้ชัดเจน เร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กำหนดเขตและส่งเสริมการปลูกป่า ป่าชุมชน เพิ่มฝายต้นน้ำลำธารและฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดไฟป่า ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจัง ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน ลดการใช้สารเคมีและฟื้นฟูดินในบริเวณพื้นที่ที่ดินมีปัญหา รวมทั้งจัดให้มีระบบบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภค
5.2 คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ความหลายทางชีวภาพ โดยสำรวจ จัดทำระบบฐานข้อมูล อนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารพลังงาน สุขภาพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้การคุ้มครองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางชีวภาพ
5.3 จัดให้มีระบบการป้องกัน รวมทั้งเตือนภัยและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยนำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเตือนภัยพิบัติ พัฒนาระบบฐานข้อมูล และติดตั้งระบบเตือนภัย และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางหรือเสี่ยงภัยต่อภัยพิบัติอันเกิดจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินหรือโคลนถล่ม น้ำแล้ง ตลอดจนธรณีพิบัติและการเกิดคลื่นยักษ์ในทะเล เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
5.4 ควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายมาเป็นมลพิษทั้งในรูปขยะ ขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง และน้ำเสีย โดยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการป้องกันมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะชุมชนกลางในทุกจังหวัด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ก่อมลพิษที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เร่งแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ที่วิกฤตซ้ำซาก รวมทั้งสนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษีและสิทธิต่าง ๆ กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษ
5.5 พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ชุมชนและนักวิชาการในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และที่ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด และช่วยลดมลพิษ
5.6 ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปของสมัชชาสิ่งแวดล้อมมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และจัดให้มีการใช้ระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นกลไกกำกับให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งสนองโครงการพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอย่างจริงจัง
6. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม
6.1 ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการวิจัยตามแนวพระราชดำริ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งงานวิจัยขั้นพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง
6.2 เร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและบุคลากรด้านการวิจัยให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิต โดยพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ และมีหน่วยงานวิจัยที่สามารถรองรับบุคลากรได้อย่างเพียงพอ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม ศูนย์แห่งความเป็นเลิศและอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
6.3 ปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยจัดให้มีกองทุนวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชนที่รัฐลงทุนร้อยละ 50 และจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคเอกชนที่เข้าร่วมงานวิจัย เพิ่มเติมงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานของงานวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจรที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รายได้และการจ้างงาน และการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ให้มีโครงการวิจัยที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ยา เคมีภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าเกษตร โดยเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สภาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายวิสาหกิจ
7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
7.1 พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกมิติและทุกระดับ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค โดยส่งเสริมความร่วมมือในทุกสาขากับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่าง ๆ และเร่งแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติวิธีบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
7.2 ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียนในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน โดยให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเคารพสิทธิมนุษยชน และผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับประเทศในเอเชียอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย และระหว่างเอเชียกับภูมิภาคอื่น
7.3 ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
7.4 กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกและประเทศคู่ค้าของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรักษาและขยายความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพยากร วัตถุดิบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่
7.5 ส่งเสริมการมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลก ในเรื่องการกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้าเกษตร และกฎระเบียบด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องรักษาและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง การส่งเสริมและคุ้มครองค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาขององค์การระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น
7.6 สนับสนุนการเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เร่งรัดการให้สัตยาบันในข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้แล้วและปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนและสังคม
7.7 ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดฉันทามติในการกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายต่างประเทศ
7.8 สร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยและการเข้าถึงระดับประชาชน โดยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นของนานาประเทศ ต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย และสนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศมีทัศนคติในทางบวกต่อประเทศและประชาชนไทย
7.9 คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทย แรงงานไทย และภาคธุรกิจเอกชนไทยในต่างประเทศ และสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทยในต่างประเทศ
8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
8.1 ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
8.1.1 สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น
8.1.2 สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความรับผิดชอบต่อชุมชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงาน ตลอดจนการจัดบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น
8.1.3 ปรับบทบาทและภารกิจการบริหารราชการระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจที่สนับสนุนเชื่อมโยงกัน และประสานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง
8.1.4 บูรณาการความเชื่อมโยงของการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่นโดยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภาค ตลอดจนเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนชุมชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผน
8.1.5 สนับสนุนให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร
8.1.6 สร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องชอบธรรมและส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
8.1.7 จัดระบบงานให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็วมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และส่งเสริมพัฒนาระบบบริหารผลงานและสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการส่งมอบบริการสาธารณะ พร้อมทั้งการพัฒนาข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของภาคราชการในอนาคต
8.1.8 ปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เหมาะสมกับความสามารถ และประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่อาจแตกต่างกันตามพื้นที่ ตามการแข่งขันของการจ้างงานในแต่ละสายอาชีพที่เหมาะสม และตามความจำเป็นเพื่อรักษาคนเก่ง คนดีไว้ในราชการ รวมทั้งการสร้างความสมดุลของคุณภาพชีวิตข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีขวัญกำลังใจที่จะปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
8.2 กฎหมายและการยุติธรรม
8.2.1 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบหรือทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ขยายและยกเลิกอายุความในคดีอาญาบางประเภทและคดีทุจริต ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกระดับอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ส่งเสริมคุณธรรมคู่ความรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง”
8.2.2 พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีระบบการอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกกลุ่ม โดยส่งเสริมให้มีการนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และหลักการระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ให้มีการจัดตั้งองค์กรประนอมข้อพิพาท มีกระบวนการชะลอการฟ้องสำหรับคดีประมาท คดีลหุโทษ และคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเป็นอย่างน้อย มีระบบหรือกระบวนการให้สามารถพิจารณาคดีได้รวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น
8.2.3 พัฒนากฎหมายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ปรับระบบงานและกระบวนการให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย และองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการทางกฎหมายของหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็น หรือตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักนิติธรรม
8.2.4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ภาคใต้การใช้อาสาสมัครเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นป้องกันอาชญากรรม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การตรวจสอบ การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษสามารถกลับสู่ชุมชนมาใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติสุข ตลอดจนจัดให้มีบริการด้านทนายและการปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย
8.2.5 พัฒนาระบบและวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชนและผู้ใหญ่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโอกาสในการแก้ไข ฟื้นฟู และสามารถกลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพที่ผู้กระทำความผิดพึงได้รับ
8.2.6 สนับสนุนและพัฒนาตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และเป็นตำรวจมืออาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี รวมทั้งดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจของตำรวจทั้งในส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักและกระจายอำนาจการบริหารไปยังส่วนภูมิภาค
8.2.7 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผลการทำงานของตำรวจ อัยการ และผู้ใช้อำนาจรัฐอื่น ๆ
8.3 สื่อและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
8.3.1 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
8.3.2 ปรับปรุงกลไกการสื่อสารภาครัฐให้ดำรงบทบาทสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะและสร้างความสมานฉันท์ในชาติ
8.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
8.3.4 จัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลขอชี้แจงว่า การกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่กราบเรียนมาแล้วนี้ จะเป็นแนวทางดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี ตามความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายที่ต้องตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย และการสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และการปรับปรุงหรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนดำเนินการทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ โดยถือเป็นนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ด้วย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
เมื่อการแถลงนโยบายนี้เสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ และแผนการตรากฎหมายไว้เป็นคู่มือและแนวทางการทำงานต่อไป
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงขอบคุณครับ
ที่มา-กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี
วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2551
ถูกต้องสง่างามหรือไม่มาร์คแถลงนโยบายที่ก.ต่างประเทศ
การประชุมรัฐสภาได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเวลา 11.20 ของวันที่ 30 ธันวาคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายเพื่อนำไปบริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามคงจะมีคนตั้งข้อสงสัยว่า การแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศเช่นนี้ถูกต้องสง่างามหรือไม่
แต่จากการได้ค้นข้อมูลไม่ได้มีการกำหนดสถานที่เป็นองค์ประกอบของสภาเลย มีแต่เพียงกำหนดองค์ประกอบของสภาที่ประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นลักษณะของสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ซึ่งสภาเดียวอาจจะมีเฉพาะ ส.ส. ส่วนสภาคู่คือมี ส.ส.กับ ส.ว.
แต่ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วได้กำหนดไว้ว่า ที่ประชุมของบัณฑิต คนคิดดี พูดดี ทำดี เรียกว่า สภา ถ้าไม่ใช่ก็จะกลายเป็น “ ที่ซ่องสุม ” ของกลุ่มคนชั่วคนเลว หรือถ้าหากได้อ่านวิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง เรื่อง"พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง" สมัยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ตัดตอนและเรียบเรียงจากการปาฐกถาพิเศษ ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ จัดโดยมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ จะทำให้สภาว่าลักษณะของสภาที่แท้จริงเป็นอย่างไร
เรื่อง"พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง" โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
นมัสการพระคุณเจ้า เรียนท่านวิทยากร ท่านผู้จัดงาน โดยเฉพาะท่านประธานมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐท่านวิโรจน์ ศิริอัฐ ที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นองค์ปาฐกในวันนี้ ผมขอกราบเรียนว่าผมมีความเต็มใจและมีความตั้งใจ ที่จะมาร่วมงานนี้ เพราะต้องการมีส่วนสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านพุทธทาสตามที่ท่านบอกว่า พุทธทาสจักไม่ตาย นั่นคืออยากให้ปรัชญาที่ท่านพุทธทาสได้ค้นพบนั้นได้รับการเผยแพร่ ได้รับการปฏิบัติตลอดไป มุ่งไปสู่จุดหมายสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาของเราคือ การดับทุกข์ ผมอยากให้คนไทยทุกคนชาวพุทธทุกคนได้มีโอกาสเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
เพราะฉะนั้นการเห็นธรรมจึงถือเป็นหัวใจสำคัญมากของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทย ทุกวันนี้เป็นสังคมที่วิกฤติในหลายด้าน เรากำลังต้องการธรรมะที่ถูกต้อง ไม่ต้องการธรรมะที่เป็นลักษณะบิดเบือนหรือชักจูงไปในทางที่ผิด เราต้องการธรรมะที่ทำให้คนไทยสามารถดับทุกข์ได้ โดยคนไทยปราศจากซึ่ง "ตัวกู-ของกู"คือการปราศจากจากกิเลสนั่นเอง ผมจะขอเริ่มตรงนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะเคยฟังประวัติของท่านพุทธทาสมาบ้างแล้ว แต่ผมอยากกล่าวถึงท่านในสิ่งที่เป็นปรัชญา
ผมคิดว่าท่านเป็นปัญญาวิมุติบุคคล คือบุคคลที่บรรลุธรรมด้วยปัญญาที่หลุดพ้นจากกิเลส ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าอยู่กับธรรมชาติ เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติและศึกษาพระไตรปิฏก ศึกษาธรรมะ ศึกษาศาสนาต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบซึ่งมีน้อยคนนักที่จะสามารถค้นคว้าศึกษาและเป็นนักคิดนักอ่านเช่นท่านได้ ชีวิตของท่านได้สะท้อนหลายสิ่งหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนที่ดีของสังคมไทย ท่านได้เปรียญ๓ ประโยค พอจะขึ้นเปรียญ ๔ ท่านเข้าใจไปว่าท่านสอบตก เนื่องจากคณะกรรมการสมัยนั้นตีความภาษาบาลีไม่เหมือนกับท่าน ซึ่งท่านเองได้ไปค้นคว้าและพิสูจน์ให้เห็นว่า ภาษาบาลีของท่านนั้นได้นำมาซึ่งความรู้ใหม่ ๆ หลายอย่าง คือท่านมีความจัดเจน
สิ่งนี้ได้บอกอะไรเราบางอย่างว่าการศึกษานอกระบบนั้นสามารถทำให้คนฉลาดและเก่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในระบบเท่านั้น เพราะการศึกษาในระบบบางครั้งอาจผิดพลาดได้ อาจทำให้เด็กของเราเติบโตขึ้นมาในทางที่มีปัญหาต่อวิธีคิดและวิธีปฏิบัติมากพอสมควร เพราะฉะนั้นการศึกษานอกระบบบางครั้งก็เป็นประโยชน์มาก มีตัวอย่างมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้กระทั่งคนดังอย่างบิลล์ เกทส์ เรียนหนังสือไม่ทันจบ ก็ออกไปทำงานของตัวเอง จนกระทั่งตอนนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ด้วยวัยเพียง ๔๐ ต้น ๆ เท่านั้น
สิ่งที่ผมศรัทธาท่านพุทธทาสอีกประการหนึ่ง และอยากให้สังคมได้ทราบคือ ท่านพุทธทาสเป็นนักคิดที่กล้าคิดนอกกรอบ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า think out of box ท่านพูดว่าถ้าจะศึกษาพระไตรปิฏก ต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบของพระไตรปิฏก คือต้องเอาตัวเองหลุดพ้นออกมาจากพระไตรปิฏกเสียก่อน นั่นคืออย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ท่านไปศึกษาจากธรรมะ จากข้อเขียนหลากหลายที่รวมทั้งพระไตรปิฏกด้วย ผลสุดท้ายท่านได้ข้อสรุปหลายเรื่องยกตัวอย่างวิธีคิดที่ท่านได้สอนสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ ในพระบาลีเรื่องของกาลามสูตร ๑๐ ข้อ ท่านพุทธทาสไม่อยากให้เราไปเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูด ไปเชื่อเพราะว่าคนที่เราศรัทธาพูด โดยที่เราไม่กลับไปคิดค้นอีกทีว่าสิ่งที่พูดมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้น การที่เราไปเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้เราอาจจะไม่ได้ค้นพบหรือประวัติศาสตร์ของความรู้ จะพูดถึงเรื่องศาสนาต่างๆ ที่มาของศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของความรู้ ตรงส่วนของพุทธศาสนาเขาบอกว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นความคิดทางจริยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และยังมีพลวัตทางความคิดที่ทันสมัยอยู่ การอธิบายของศาสนาพุทธจึงมีความหมายในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งกว่าศาสนาอื่น ซึ่งตอนนี้กลับไปมีอิทธิพลในตะวันตก
ผมเชื่อว่างานของท่านพุทธทาสส่วนหนึ่ง มีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะท่านได้เขียนหนังสือหลายเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติที่มาฟังธรรมกับท่านเป็นประจำ ท่านเองไม่ได้เรียนหนังสือมากแต่ท่านศึกษาด้วยตนเอง จนกระทั่งภาษาอังกฤษของท่านอยู่ในขั้นที่สามารถจะเทศน์และสนทนาธรรมกับฝรั่งได้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ปรัชญาโดดเด่นอีกประการของท่านคือ ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า การตรัสรู้หรือความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เปรียบเสมือนใบไม้ทั้งป่า แต่หลักที่จะจำและนำเอาไปปฏิบัติในชีวิตนั้นเท่ากับใบไม้เพียงกำมือเดียว นี่ละครับเป็นสิ่งที่ผมมองว่าวิเศษสุดเพราะยิ่งเรามาดูในหนังสือHistory of Knowledge จะยิ่งรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เป็นผู้เขียนพระไตรปิฏกด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการแปลธรรมะต่าง ๆ ก็ออกไปในหลายรูปแบบ แล้วแต่ใครจัดเจนหรือถนัดตรงไหน หรือ อยากให้คนที่มาฟังเชื่ออย่างไรโดยมีวิธีการที่จะทำให้เขาเชื่อได้แบบไหน บ้างก็ทำถูกวิธี บ้างก็ทำอย่างไม่เหมาะสม
แต่ผลสุดท้ายคำที่พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่า สิ่งที่จะเป็นความรู้ เป็นปรัชญาจริง ๆ นั้น มีเพียงกำมือเดียวเท่านั้นเอง ตรงนี้ละครับคือหัวใจกำมือเดียวที่ท่านพุทธทาสท่านหยิบยกขึ้นมานั้นน่าสนใจมาก ท่านบอกว่าศาสนาพุทธมีหลักพื้นฐานคือ การดับทุกข์และความไม่ยึดมั่นถือมั่น เหล่านี้คือจุดที่ต้องการให้คนหลุดพ้นจากกิเลสหลุดพ้นจากความเป็น "ตัวกู-ของกู" เพราะว่าการหลุดพ้นได้แล้วนั้น จะทำให้จิตว่าง "จิตว่าง" ที่ท่านพยายามเน้นคือ ว่างจากการเป็นตัวตน ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากการรบกวนทางอารมณ์ อันนี้เป็นจุดที่เป็นหัวใจหากเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว คนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ทุกข์ ขณะเดียวกันก็สามารถจะทำให้ตัวเองและผู้อยู่ร่วมด้วยมีความสุขได้ เป็นปรัชญาที่สั้นแต่มีความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือท่านได้เปรียบเทียบธรรมะคือธรรมชาติให้คำจำกัดความของธรรมชาติใน ๔ ลักษณะ
ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาส ผมมีเวลาเพียง ๒๕ นาทีคงไม่พูดอะไรมากกว่านั้น ท่านพุทธทาสได้มองการเมืองว่า การเมืองคือธรรมะ ธรรมะคือการเมือง เพราะการเมืองเป็นหน้าที่การเมืองคือการจัดให้คนในสังคมหมู่มากได้อยู่กันอย่างสันติ โดยไม่ต้องใช้อาชญา มันตรงกับทฤษฎี social contract theory หรือทฤษฎีสัญญาประชาคมที่นักปราชญ์รุ่นเก่าอย่าง มองเตสกิเออร์, รุสโซ, จอห์น ล็อค, โทมัสฮอบบ ได้พูดไว้ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการจัดการให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ให้มีการรังแกหรือเอาเปรียบซึ่งกันและกันในเมื่อการเมืองเป็นหน้าที่ มันก็ตรงกับธรรมะข้อที่สาม คือเรื่องของการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั่นเอง
เป็นสิ่งที่ฟังแล้วมีเหตุผลมากสิ่งที่ท่านมักเน้นโดยวกเข้าสู่การเมืองคือ ธรรมะเป็นความถูกต้องที่อยู่บนรากฐานของความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยถ้าผู้คนในระบอบประชาธิปไตยมีความเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในแบบที่เรียกว่า ประชาธิปตาย คนเราถ้าขาดคุณธรรมแล้ว สังคมจะยุ่งเหยิง การเมืองที่มีธรรมะคือการเมืองของสัตบุรุษ ท่านยังบอกว่าสภานั้นคือที่ชุมนุมของสัตบุรุษ หรือที่ชุมนุมของนักการเมืองที่มีธรรมะ แต่ถ้าสภาใดมีการทะเลาะกัน ด่าทอกัน หรือทำลายล้างกัน มัวแต่ปกป้องผลประโยชน์ของตนนั้นไม่น่าจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษ ที่นั้นจึงไม่น่าจะเรียกว่าสภาเหมือนกับท่านพุทธทาสกำลังจะบอกกับนักการเมืองว่าเราควรจะพิจารณากันให้ดี
เราเองต้องเข้าใจว่า การเมืองในปัจจุบันของบ้านเรานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการเมืองของอังกฤษการเมืองแบบอังกฤษคือมีการโต้แย้งกันในแบบของนักกฎหมาย ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านต้องการเห็นที่ว่าสภาคือที่รวมของสัตบุรุษ อย่างไรก็ตามการเมืองต้องเก็บเอาตรงนี้ไปคิดว่า เมื่อไหร่การเมืองจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีนักโกงเมืองนักกินเมือง เราเรียกการเมืองนั้นเป็นการเมืองเนื้องอก เป็นการเมืองที่ไม่มีธรรมะ เป็นการเมืองที่โกงเมืองกินเมือง
ท่านพูดการเมืองในภาษาธรรม เพื่อจะให้นักการเมืองทำในสิ่งเหล่านี้คือ ทำการเมืองที่สร้างสรรค์ เลิกทำลายกัน ท่านต้องการเน้นไม่ให้มีการคอร์รัปชัน ท่านต้องการให้นักการเมืองหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นรู้จักคำว่ากตัญญู ซึ่งคำนี้กินความกว้างมากเหลือเกินท่านบอกว่าศัตรูนั้นเรายังต้องกตัญญูต่อศัตรู เพราะถ้าไม่มีศัตรูก็ไม่มีสมรรถภาพ เพราะมีศัตรูเราจึงต้องปรับปรุงสมรรถภาพเพื่อให้สู้ศัตรูได้ความกตัญญูของท่านนั้นจะเห็นว่า ท่านใจกว้างมาก ท่านไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นนับประสาอะไรกับนักการเมืองที่จะต้องกตัญญูต่อประชาชน ทำไมต้องกตัญญู ก็เพราะประชาชนให้ศรัทธาแก่นักการเมืองเราต้องกตัญญูต่อศรัทธาของประชาชน ต้องกตัญญูต่อเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีอากรของประชาชน ต้องกตัญญูกับการที่ประชาชนให้โอกาสเรามาแสดงผลงาน มาทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ต้องกตัญญูเพราะเราได้เกียรติยศที่สังคมยอมรับเราในความเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นการกตัญญูตรงนี้ต้องมีนอกเหนือจากการกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด กตัญญูต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณมากล้นต่อแผ่นดินอันนั้นเป็นความกตัญญูที่นักการเมืองจะต้องเน้น ท่านพุทธทาสได้พูดถึงลักษณะธรรมะ ๒ ข้อที่ผมพยายามเข้าใจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นปัญหาในทางการเมืองมาโดยตลอด คือท่านพูดถึงเรื่องของ ธรรมิกสังคมนิยม ท่านเอาคำ ๒ คำคือสังคมนิยมกับธรรมิก มารวมกัน ไม่ใช่ลัทธิการเมืองท่านต้องการเห็นการเมืองที่นึกถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล การนึกถึงประโยชน์ของสังคมนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของการมีธรรมะ
ผมอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมาตลอด ได้ค้นพบว่าท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านพูดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ที่สวนโมกข์ วันนี้ยังใช้ได้และเป็นจริงอยู่ ท่านบอกว่าอย่ามองประเทศไทยเป็นแค่ประเทศไทย เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกโลกติดต่อกันง่ายยิ่งขึ้นทุกวัน ท่านพูดถึงเรื่องโลกาภิวัตน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แต่ไม่ได้บัญญัติศัพท์ว่าโลกาภิวัตน์เท่านั้นเอง วันนี้เราเพิ่งมาคิดกันได้ตอนที่ปี ๒๐๐๐ กำลังมา เราเพิ่งมาตกใจตื่นกัน แต่ท่านเตือนเรามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แล้ว อันนี้คือวิสัยทัศน์ที่ไม่น่าเชื่อ สำหรับท่านที่แยกตัวออกไปอยู่ในป่าโมกข์ ศึกษาอยู่ตรงนั้น แต่กลับมองล่วงหน้าและเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่เกิดจากการอ่านและเป็นนักคิดของท่าน
ผมขอโยงเรื่องของตัวผมกับคำสอนของท่านพุทธทาสสักนิดหนึ่ง ซึ่งจะสะท้อนปรัชญาของท่านที่มีผลต่อสังคม ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงและมีผลต่อตัวผมมาแล้วถ้าใครเคยอ่านหนังสือของท่าน เรื่อง Danger of I หรือเรื่องอันตรายซึ่งตัวกู เป็นหนังสือที่ท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านไม่ต้องการให้คนทุกคนมีชีวิตที่มันกัดเจ้าของของมัน ท่านใช้คำว่า ชีวิตที่กัดเจ้าของ เป็นคำพูดที่มีความหมายในตัวมาก ท่านแยกความป่วยเจ็บของคนออกเป็น ๓ อย่าง เดิมพระพุทธเจ้าท่านแยกไว้ ๒ อย่างคือ ทางกายกับทางจิตแต่ท่านพุทธทาสเห็นว่าทางจิตสมัยนี้มีจิตแพทย์ด้วย ท่านกลัวปนกัน ท่านจึงเรียกว่าทางกาย ทางจิตและทางวิญญาณ มีการป่วยทางวิญญาณหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า spiritual disease ผมยอมรับว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมป่วยเป็นโรคทางวิญญาณ ช่วงนั้นผมเป็นรองนายกฯ ในสมัยที่คุณบรรหารเป็นนายกฯ ผมป่วยทางวิญญาณต่อเนื่องมาเป็นปี จนผมพักจากการเมืองไปช่วงหนึ่ง ภรรยาผมนี่ละครับเป็นคนบอกว่าผมป่วย แต่ไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคอะไร ป่วยตรงนั้นคือว่าผมมีคำว่า self ท่านพุทธทาสได้พูดคำว่า self ภาษาลาตินเรียก ego ภาษากรีกเรียกเซนทีกอนที่แปลว่า center นั่นก็คือว่าคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู คนที่มีการปรุงแต่งทางอารมณ์ จิตวุ่น นั่นคือภาวะของความป่วยของผมในช่วงนั้น
ภรรยาผมบอกว่าเธอป่วยแน่ เธอพูดคำว่า self ผมจึงเริ่มรู้สึกว่าผมป่วยจริง ผมจึงไปหาแพทย์แพทย์ของผมชื่อพระอิสระมุนี ซึ่งเป็นองค์หนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ท่านอิสระมุนีใช้คำสอนของอาจารย์อย่างแม่นยำท่านได้เทศน์ให้ผมฟัง โดยที่ผมไม่ได้นัดหมายกับท่านเลยว่าผมไปหาท่านด้วยเรื่องอะไร อยู่ ๆ ท่านก็เทศน์ให้ผมฟัง ท่านพูดถึงตถตา มันเป็นอย่างนั้นเอง ท่านพูดถึงเรื่องของปฏิจจสมุทปบาท ท่านพูดเรื่องอิทัปปัจจยตา ท่านพูดถึงตัวกูของกู การยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมสว่างเลยครับ ก่อนหน้านั้นผมยอมรับเลยว่าความจำที่เคยแม่น กลับไม่แม่นตรงกับที่ท่านพุทธทาสบอกว่าถ้าเราวุ่น คือ จิตไม่ว่าง สมาธิไม่เกิด ปัญญาจะหายไป ถ้าจิตว่าง สมาธิมี ปัญญาเข้ามาหา ปรากฏว่าหลังจากนั้นผมคลายลงอย่างง่าย ๆ เลยครับ หลังจากนั้นชีวิตผมมีความสุขมาก คิดอะไรก็ง่าย จำแม่น สมองโปร่งผมบอกได้เลยว่าคาถาบทนี้คือ ความรู้ที่เป็นหลักที่เปรียบเสมือนใบไม้เพียงกำมือเดียวนั้น ถ้าเราพยายามเข้าใจกับหลักแล้ว จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมาก ไม่เครียดและปัญญาจะเกิด แล้วเราจะแก้ปัญหาชีวิตได้อันนั้นคือสิ่งที่ผมอยากจะมาสื่อให้ฟังว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์
สิ่งที่ท่านพุทธทาสได้บอกอีกอย่างหนึ่งคือ เหงื่อของเรานี้คือน้ำมนต์ที่ดีที่สุด อย่าคิดไปวิ่งหาน้ำมนต์ที่ไหนเลย เหงื่อ คือความรักงานเอาใจใส่งาน มุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างตัวเองให้ดีที่สุดท่านยังบอกว่า โง่สำหรับฉลาด ถ้าไม่โง่ก็ไม่มีฉลาด จงเอาความโง่มาใช้เหมือนมีไฟ ไฟมันมีอันตรายเพราะมันร้อน แต่สามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมายนั่นคือเอาความโง่ในอดีตมาเป็นครู มาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับอนาคต เพราะฉะนั้นใครที่เจอวิกฤติในวันนี้ ขอให้เอาคาถา ๓-๔ ข้อนี้ละครับไปใช้กับชีวิตพยายามเข้าถึงธรรมะที่เป็นธรรมชาติ โดยการหลุดพ้นจากตัวกูของกูให้มากที่สุด ที่สำคัญให้เริ่มต้นจากสังคมในครอบครัวก่อน สังคมเล็ก ๆ นี้ละครับ ท่านบอกว่าทุกคนเป็นนักการเมืองทั้งนั้น หัวหน้าครอบครัวก็ต้องเป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดครอบครัวให้มีความสุข หัวหน้าหมู่บ้านก็เป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดหมู่บ้านให้คนในหมู่บ้านมีความสุข เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน ถ้าเราหลุดพ้นจากตัวกูของกูในครอบครัว ครอบครัวก็จะสันติ มีความสุข
ท่านพุทธทาสบอกว่า คนขาดสติจะเป็นคนที่วิ่งหาธรรมะ แต่ธรรมะจะวิ่งหาคนที่มีสติ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านปราศจากความเป็นตัวกูของกู และจงมีสติเพื่อให้เกิดปัญญา คิดหาทางแก้ไขปัญหาของท่านและครอบครัวต่อไป ถึงแม้ว่าเราอยู่ในโลกประชาธิปไตย แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีทุนนิยมปนอยู่เพราะเรารับสังคมของตะวันตกมาเต็มที่ อย่างที่คุณหมอประเวศท่านเขียนหนังสือไว้ว่าความสุขตามคำสอนของท่านพุทธทาสกับความสุขในค่านิยมทางตะวันตกนั้นแตกต่างกัน ตะวันตกถือว่าความสุขคือ การที่สามารถตอบสนองกิเลสของตัวเองได้ ส่วนท่านพุทธทาสนั้นท่านสอนให้หลุดพ้นจากการเป็นตัวกูของกู หลุดพ้นจากกิเลสเพื่อให้จิตว่าง ถ้าจิตว่างอย่างที่สุดนั้นท่านเรียกว่านิพพาน ซึ่งนิพพานนั้นอาจจะอยู่ในวัฏสงสารได้เป็นอะไรที่เป็นข้อโต้แย้งที่สนุกดีเหมือนกัน
สุดท้ายคงจำได้ที่เราเรียนหนังสือตอนเด็กๆ เรื่องที่พระพุทธเจ้าโปรดองคุลิมาล ผมอยากให้คำโปรดของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเหมือนกับเป็นการโปรดให้แก่นักการเมืองทั่วไปด้วย องคุลิมาลเรียกให้ท่านหยุดพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสว่าเราหยุดแล้ว ตัวท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด องคุลิมาลก็ครุ่นคิดในคำว่าหยุดว่าคืออะไรเพราะจะหยุดได้อย่างไรในเมื่อยังเห็นพระพุทธเจ้ายังเสด็จต่อไปข้างหน้าเรื่อย ๆ หยุดของพระพุทธเจ้าที่โปรดองคุลิมาลในที่นี้คือ หยุดความเป็นตัวกู-ของกู หยุดกิเลสและจงหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งองคุลิมาลก็หยุดได้ในที่สุดเพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองทุกคนสามารถหยุด "ตัวกู-ของกู" ปราศจาก "ตัวกู-ของกู" ได้ ประเทศชาติจะมีความสุขมาก ถ้าเราทำอะไรเพื่อคนอื่น เพื่อเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายได้นั้น ย่อมทำให้สังคมมีสุขและสันติสุขตลอดไปขอให้ทุกท่านมีความสุขตลอดไปขอขอบคุณ สวัสดี
คงจะมีหลายคนได้ดวงตาเห็นธรรมกันบ้างนะ อย่างไรก็ตามคนรู้ธรรมกับคนมีธรรมต่างกัน บางคนรู้ธรรมมากแต่เอาตัวไม่รอดก็มี ดังนั้นขอให้ทุกท่านมีธรรมมากกว่ารู้ธรรมก็แล้วกัน
mhanation.net
รายงาน
อย่างไรก็ตามคงจะมีคนตั้งข้อสงสัยว่า การแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศเช่นนี้ถูกต้องสง่างามหรือไม่
แต่จากการได้ค้นข้อมูลไม่ได้มีการกำหนดสถานที่เป็นองค์ประกอบของสภาเลย มีแต่เพียงกำหนดองค์ประกอบของสภาที่ประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นลักษณะของสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ซึ่งสภาเดียวอาจจะมีเฉพาะ ส.ส. ส่วนสภาคู่คือมี ส.ส.กับ ส.ว.
แต่ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วได้กำหนดไว้ว่า ที่ประชุมของบัณฑิต คนคิดดี พูดดี ทำดี เรียกว่า สภา ถ้าไม่ใช่ก็จะกลายเป็น “ ที่ซ่องสุม ” ของกลุ่มคนชั่วคนเลว หรือถ้าหากได้อ่านวิสัยทัศน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง เรื่อง"พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง" สมัยเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ตัดตอนและเรียบเรียงจากการปาฐกถาพิเศษ ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ จัดโดยมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ จะทำให้สภาว่าลักษณะของสภาที่แท้จริงเป็นอย่างไร
เรื่อง"พุทธทาสที่ข้าพเจ้ารู้จักในทางการเมือง" โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
นมัสการพระคุณเจ้า เรียนท่านวิทยากร ท่านผู้จัดงาน โดยเฉพาะท่านประธานมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐท่านวิโรจน์ ศิริอัฐ ที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นองค์ปาฐกในวันนี้ ผมขอกราบเรียนว่าผมมีความเต็มใจและมีความตั้งใจ ที่จะมาร่วมงานนี้ เพราะต้องการมีส่วนสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านพุทธทาสตามที่ท่านบอกว่า พุทธทาสจักไม่ตาย นั่นคืออยากให้ปรัชญาที่ท่านพุทธทาสได้ค้นพบนั้นได้รับการเผยแพร่ ได้รับการปฏิบัติตลอดไป มุ่งไปสู่จุดหมายสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาของเราคือ การดับทุกข์ ผมอยากให้คนไทยทุกคนชาวพุทธทุกคนได้มีโอกาสเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
เพราะฉะนั้นการเห็นธรรมจึงถือเป็นหัวใจสำคัญมากของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทย ทุกวันนี้เป็นสังคมที่วิกฤติในหลายด้าน เรากำลังต้องการธรรมะที่ถูกต้อง ไม่ต้องการธรรมะที่เป็นลักษณะบิดเบือนหรือชักจูงไปในทางที่ผิด เราต้องการธรรมะที่ทำให้คนไทยสามารถดับทุกข์ได้ โดยคนไทยปราศจากซึ่ง "ตัวกู-ของกู"คือการปราศจากจากกิเลสนั่นเอง ผมจะขอเริ่มตรงนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะเคยฟังประวัติของท่านพุทธทาสมาบ้างแล้ว แต่ผมอยากกล่าวถึงท่านในสิ่งที่เป็นปรัชญา
ผมคิดว่าท่านเป็นปัญญาวิมุติบุคคล คือบุคคลที่บรรลุธรรมด้วยปัญญาที่หลุดพ้นจากกิเลส ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าอยู่กับธรรมชาติ เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติและศึกษาพระไตรปิฏก ศึกษาธรรมะ ศึกษาศาสนาต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบซึ่งมีน้อยคนนักที่จะสามารถค้นคว้าศึกษาและเป็นนักคิดนักอ่านเช่นท่านได้ ชีวิตของท่านได้สะท้อนหลายสิ่งหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนที่ดีของสังคมไทย ท่านได้เปรียญ๓ ประโยค พอจะขึ้นเปรียญ ๔ ท่านเข้าใจไปว่าท่านสอบตก เนื่องจากคณะกรรมการสมัยนั้นตีความภาษาบาลีไม่เหมือนกับท่าน ซึ่งท่านเองได้ไปค้นคว้าและพิสูจน์ให้เห็นว่า ภาษาบาลีของท่านนั้นได้นำมาซึ่งความรู้ใหม่ ๆ หลายอย่าง คือท่านมีความจัดเจน
สิ่งนี้ได้บอกอะไรเราบางอย่างว่าการศึกษานอกระบบนั้นสามารถทำให้คนฉลาดและเก่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในระบบเท่านั้น เพราะการศึกษาในระบบบางครั้งอาจผิดพลาดได้ อาจทำให้เด็กของเราเติบโตขึ้นมาในทางที่มีปัญหาต่อวิธีคิดและวิธีปฏิบัติมากพอสมควร เพราะฉะนั้นการศึกษานอกระบบบางครั้งก็เป็นประโยชน์มาก มีตัวอย่างมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้กระทั่งคนดังอย่างบิลล์ เกทส์ เรียนหนังสือไม่ทันจบ ก็ออกไปทำงานของตัวเอง จนกระทั่งตอนนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ด้วยวัยเพียง ๔๐ ต้น ๆ เท่านั้น
สิ่งที่ผมศรัทธาท่านพุทธทาสอีกประการหนึ่ง และอยากให้สังคมได้ทราบคือ ท่านพุทธทาสเป็นนักคิดที่กล้าคิดนอกกรอบ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า think out of box ท่านพูดว่าถ้าจะศึกษาพระไตรปิฏก ต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบของพระไตรปิฏก คือต้องเอาตัวเองหลุดพ้นออกมาจากพระไตรปิฏกเสียก่อน นั่นคืออย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ท่านไปศึกษาจากธรรมะ จากข้อเขียนหลากหลายที่รวมทั้งพระไตรปิฏกด้วย ผลสุดท้ายท่านได้ข้อสรุปหลายเรื่องยกตัวอย่างวิธีคิดที่ท่านได้สอนสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ ในพระบาลีเรื่องของกาลามสูตร ๑๐ ข้อ ท่านพุทธทาสไม่อยากให้เราไปเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูด ไปเชื่อเพราะว่าคนที่เราศรัทธาพูด โดยที่เราไม่กลับไปคิดค้นอีกทีว่าสิ่งที่พูดมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้น การที่เราไปเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้เราอาจจะไม่ได้ค้นพบหรือประวัติศาสตร์ของความรู้ จะพูดถึงเรื่องศาสนาต่างๆ ที่มาของศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของความรู้ ตรงส่วนของพุทธศาสนาเขาบอกว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นความคิดทางจริยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และยังมีพลวัตทางความคิดที่ทันสมัยอยู่ การอธิบายของศาสนาพุทธจึงมีความหมายในเชิงโครงสร้างที่แข็งแกร่งกว่าศาสนาอื่น ซึ่งตอนนี้กลับไปมีอิทธิพลในตะวันตก
ผมเชื่อว่างานของท่านพุทธทาสส่วนหนึ่ง มีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะท่านได้เขียนหนังสือหลายเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติที่มาฟังธรรมกับท่านเป็นประจำ ท่านเองไม่ได้เรียนหนังสือมากแต่ท่านศึกษาด้วยตนเอง จนกระทั่งภาษาอังกฤษของท่านอยู่ในขั้นที่สามารถจะเทศน์และสนทนาธรรมกับฝรั่งได้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ปรัชญาโดดเด่นอีกประการของท่านคือ ความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า การตรัสรู้หรือความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เปรียบเสมือนใบไม้ทั้งป่า แต่หลักที่จะจำและนำเอาไปปฏิบัติในชีวิตนั้นเท่ากับใบไม้เพียงกำมือเดียว นี่ละครับเป็นสิ่งที่ผมมองว่าวิเศษสุดเพราะยิ่งเรามาดูในหนังสือHistory of Knowledge จะยิ่งรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เป็นผู้เขียนพระไตรปิฏกด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการแปลธรรมะต่าง ๆ ก็ออกไปในหลายรูปแบบ แล้วแต่ใครจัดเจนหรือถนัดตรงไหน หรือ อยากให้คนที่มาฟังเชื่ออย่างไรโดยมีวิธีการที่จะทำให้เขาเชื่อได้แบบไหน บ้างก็ทำถูกวิธี บ้างก็ทำอย่างไม่เหมาะสม
แต่ผลสุดท้ายคำที่พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่า สิ่งที่จะเป็นความรู้ เป็นปรัชญาจริง ๆ นั้น มีเพียงกำมือเดียวเท่านั้นเอง ตรงนี้ละครับคือหัวใจกำมือเดียวที่ท่านพุทธทาสท่านหยิบยกขึ้นมานั้นน่าสนใจมาก ท่านบอกว่าศาสนาพุทธมีหลักพื้นฐานคือ การดับทุกข์และความไม่ยึดมั่นถือมั่น เหล่านี้คือจุดที่ต้องการให้คนหลุดพ้นจากกิเลสหลุดพ้นจากความเป็น "ตัวกู-ของกู" เพราะว่าการหลุดพ้นได้แล้วนั้น จะทำให้จิตว่าง "จิตว่าง" ที่ท่านพยายามเน้นคือ ว่างจากการเป็นตัวตน ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากการรบกวนทางอารมณ์ อันนี้เป็นจุดที่เป็นหัวใจหากเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว คนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ทุกข์ ขณะเดียวกันก็สามารถจะทำให้ตัวเองและผู้อยู่ร่วมด้วยมีความสุขได้ เป็นปรัชญาที่สั้นแต่มีความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือท่านได้เปรียบเทียบธรรมะคือธรรมชาติให้คำจำกัดความของธรรมชาติใน ๔ ลักษณะ
ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้เป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาส ผมมีเวลาเพียง ๒๕ นาทีคงไม่พูดอะไรมากกว่านั้น ท่านพุทธทาสได้มองการเมืองว่า การเมืองคือธรรมะ ธรรมะคือการเมือง เพราะการเมืองเป็นหน้าที่การเมืองคือการจัดให้คนในสังคมหมู่มากได้อยู่กันอย่างสันติ โดยไม่ต้องใช้อาชญา มันตรงกับทฤษฎี social contract theory หรือทฤษฎีสัญญาประชาคมที่นักปราชญ์รุ่นเก่าอย่าง มองเตสกิเออร์, รุสโซ, จอห์น ล็อค, โทมัสฮอบบ ได้พูดไว้ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการจัดการให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ให้มีการรังแกหรือเอาเปรียบซึ่งกันและกันในเมื่อการเมืองเป็นหน้าที่ มันก็ตรงกับธรรมะข้อที่สาม คือเรื่องของการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั่นเอง
เป็นสิ่งที่ฟังแล้วมีเหตุผลมากสิ่งที่ท่านมักเน้นโดยวกเข้าสู่การเมืองคือ ธรรมะเป็นความถูกต้องที่อยู่บนรากฐานของความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยถ้าผู้คนในระบอบประชาธิปไตยมีความเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตยในแบบที่เรียกว่า ประชาธิปตาย คนเราถ้าขาดคุณธรรมแล้ว สังคมจะยุ่งเหยิง การเมืองที่มีธรรมะคือการเมืองของสัตบุรุษ ท่านยังบอกว่าสภานั้นคือที่ชุมนุมของสัตบุรุษ หรือที่ชุมนุมของนักการเมืองที่มีธรรมะ แต่ถ้าสภาใดมีการทะเลาะกัน ด่าทอกัน หรือทำลายล้างกัน มัวแต่ปกป้องผลประโยชน์ของตนนั้นไม่น่าจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษ ที่นั้นจึงไม่น่าจะเรียกว่าสภาเหมือนกับท่านพุทธทาสกำลังจะบอกกับนักการเมืองว่าเราควรจะพิจารณากันให้ดี
เราเองต้องเข้าใจว่า การเมืองในปัจจุบันของบ้านเรานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการเมืองของอังกฤษการเมืองแบบอังกฤษคือมีการโต้แย้งกันในแบบของนักกฎหมาย ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านต้องการเห็นที่ว่าสภาคือที่รวมของสัตบุรุษ อย่างไรก็ตามการเมืองต้องเก็บเอาตรงนี้ไปคิดว่า เมื่อไหร่การเมืองจะเป็นการเมืองของสัตบุรุษท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีนักโกงเมืองนักกินเมือง เราเรียกการเมืองนั้นเป็นการเมืองเนื้องอก เป็นการเมืองที่ไม่มีธรรมะ เป็นการเมืองที่โกงเมืองกินเมือง
ท่านพูดการเมืองในภาษาธรรม เพื่อจะให้นักการเมืองทำในสิ่งเหล่านี้คือ ทำการเมืองที่สร้างสรรค์ เลิกทำลายกัน ท่านต้องการเน้นไม่ให้มีการคอร์รัปชัน ท่านต้องการให้นักการเมืองหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นรู้จักคำว่ากตัญญู ซึ่งคำนี้กินความกว้างมากเหลือเกินท่านบอกว่าศัตรูนั้นเรายังต้องกตัญญูต่อศัตรู เพราะถ้าไม่มีศัตรูก็ไม่มีสมรรถภาพ เพราะมีศัตรูเราจึงต้องปรับปรุงสมรรถภาพเพื่อให้สู้ศัตรูได้ความกตัญญูของท่านนั้นจะเห็นว่า ท่านใจกว้างมาก ท่านไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นนับประสาอะไรกับนักการเมืองที่จะต้องกตัญญูต่อประชาชน ทำไมต้องกตัญญู ก็เพราะประชาชนให้ศรัทธาแก่นักการเมืองเราต้องกตัญญูต่อศรัทธาของประชาชน ต้องกตัญญูต่อเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีอากรของประชาชน ต้องกตัญญูกับการที่ประชาชนให้โอกาสเรามาแสดงผลงาน มาทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ต้องกตัญญูเพราะเราได้เกียรติยศที่สังคมยอมรับเราในความเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นการกตัญญูตรงนี้ต้องมีนอกเหนือจากการกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด กตัญญูต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณมากล้นต่อแผ่นดินอันนั้นเป็นความกตัญญูที่นักการเมืองจะต้องเน้น ท่านพุทธทาสได้พูดถึงลักษณะธรรมะ ๒ ข้อที่ผมพยายามเข้าใจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นปัญหาในทางการเมืองมาโดยตลอด คือท่านพูดถึงเรื่องของ ธรรมิกสังคมนิยม ท่านเอาคำ ๒ คำคือสังคมนิยมกับธรรมิก มารวมกัน ไม่ใช่ลัทธิการเมืองท่านต้องการเห็นการเมืองที่นึกถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล การนึกถึงประโยชน์ของสังคมนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของการมีธรรมะ
ผมอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมาตลอด ได้ค้นพบว่าท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านพูดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๓ ที่สวนโมกข์ วันนี้ยังใช้ได้และเป็นจริงอยู่ ท่านบอกว่าอย่ามองประเทศไทยเป็นแค่ประเทศไทย เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกโลกติดต่อกันง่ายยิ่งขึ้นทุกวัน ท่านพูดถึงเรื่องโลกาภิวัตน์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แต่ไม่ได้บัญญัติศัพท์ว่าโลกาภิวัตน์เท่านั้นเอง วันนี้เราเพิ่งมาคิดกันได้ตอนที่ปี ๒๐๐๐ กำลังมา เราเพิ่งมาตกใจตื่นกัน แต่ท่านเตือนเรามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แล้ว อันนี้คือวิสัยทัศน์ที่ไม่น่าเชื่อ สำหรับท่านที่แยกตัวออกไปอยู่ในป่าโมกข์ ศึกษาอยู่ตรงนั้น แต่กลับมองล่วงหน้าและเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่เกิดจากการอ่านและเป็นนักคิดของท่าน
ผมขอโยงเรื่องของตัวผมกับคำสอนของท่านพุทธทาสสักนิดหนึ่ง ซึ่งจะสะท้อนปรัชญาของท่านที่มีผลต่อสังคม ซึ่งได้เกิดขึ้นจริงและมีผลต่อตัวผมมาแล้วถ้าใครเคยอ่านหนังสือของท่าน เรื่อง Danger of I หรือเรื่องอันตรายซึ่งตัวกู เป็นหนังสือที่ท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านไม่ต้องการให้คนทุกคนมีชีวิตที่มันกัดเจ้าของของมัน ท่านใช้คำว่า ชีวิตที่กัดเจ้าของ เป็นคำพูดที่มีความหมายในตัวมาก ท่านแยกความป่วยเจ็บของคนออกเป็น ๓ อย่าง เดิมพระพุทธเจ้าท่านแยกไว้ ๒ อย่างคือ ทางกายกับทางจิตแต่ท่านพุทธทาสเห็นว่าทางจิตสมัยนี้มีจิตแพทย์ด้วย ท่านกลัวปนกัน ท่านจึงเรียกว่าทางกาย ทางจิตและทางวิญญาณ มีการป่วยทางวิญญาณหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า spiritual disease ผมยอมรับว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมป่วยเป็นโรคทางวิญญาณ ช่วงนั้นผมเป็นรองนายกฯ ในสมัยที่คุณบรรหารเป็นนายกฯ ผมป่วยทางวิญญาณต่อเนื่องมาเป็นปี จนผมพักจากการเมืองไปช่วงหนึ่ง ภรรยาผมนี่ละครับเป็นคนบอกว่าผมป่วย แต่ไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคอะไร ป่วยตรงนั้นคือว่าผมมีคำว่า self ท่านพุทธทาสได้พูดคำว่า self ภาษาลาตินเรียก ego ภาษากรีกเรียกเซนทีกอนที่แปลว่า center นั่นก็คือว่าคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู คนที่มีการปรุงแต่งทางอารมณ์ จิตวุ่น นั่นคือภาวะของความป่วยของผมในช่วงนั้น
ภรรยาผมบอกว่าเธอป่วยแน่ เธอพูดคำว่า self ผมจึงเริ่มรู้สึกว่าผมป่วยจริง ผมจึงไปหาแพทย์แพทย์ของผมชื่อพระอิสระมุนี ซึ่งเป็นองค์หนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ท่านอิสระมุนีใช้คำสอนของอาจารย์อย่างแม่นยำท่านได้เทศน์ให้ผมฟัง โดยที่ผมไม่ได้นัดหมายกับท่านเลยว่าผมไปหาท่านด้วยเรื่องอะไร อยู่ ๆ ท่านก็เทศน์ให้ผมฟัง ท่านพูดถึงตถตา มันเป็นอย่างนั้นเอง ท่านพูดถึงเรื่องของปฏิจจสมุทปบาท ท่านพูดเรื่องอิทัปปัจจยตา ท่านพูดถึงตัวกูของกู การยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมสว่างเลยครับ ก่อนหน้านั้นผมยอมรับเลยว่าความจำที่เคยแม่น กลับไม่แม่นตรงกับที่ท่านพุทธทาสบอกว่าถ้าเราวุ่น คือ จิตไม่ว่าง สมาธิไม่เกิด ปัญญาจะหายไป ถ้าจิตว่าง สมาธิมี ปัญญาเข้ามาหา ปรากฏว่าหลังจากนั้นผมคลายลงอย่างง่าย ๆ เลยครับ หลังจากนั้นชีวิตผมมีความสุขมาก คิดอะไรก็ง่าย จำแม่น สมองโปร่งผมบอกได้เลยว่าคาถาบทนี้คือ ความรู้ที่เป็นหลักที่เปรียบเสมือนใบไม้เพียงกำมือเดียวนั้น ถ้าเราพยายามเข้าใจกับหลักแล้ว จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมาก ไม่เครียดและปัญญาจะเกิด แล้วเราจะแก้ปัญหาชีวิตได้อันนั้นคือสิ่งที่ผมอยากจะมาสื่อให้ฟังว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์
สิ่งที่ท่านพุทธทาสได้บอกอีกอย่างหนึ่งคือ เหงื่อของเรานี้คือน้ำมนต์ที่ดีที่สุด อย่าคิดไปวิ่งหาน้ำมนต์ที่ไหนเลย เหงื่อ คือความรักงานเอาใจใส่งาน มุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างตัวเองให้ดีที่สุดท่านยังบอกว่า โง่สำหรับฉลาด ถ้าไม่โง่ก็ไม่มีฉลาด จงเอาความโง่มาใช้เหมือนมีไฟ ไฟมันมีอันตรายเพราะมันร้อน แต่สามารถเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมายนั่นคือเอาความโง่ในอดีตมาเป็นครู มาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับอนาคต เพราะฉะนั้นใครที่เจอวิกฤติในวันนี้ ขอให้เอาคาถา ๓-๔ ข้อนี้ละครับไปใช้กับชีวิตพยายามเข้าถึงธรรมะที่เป็นธรรมชาติ โดยการหลุดพ้นจากตัวกูของกูให้มากที่สุด ที่สำคัญให้เริ่มต้นจากสังคมในครอบครัวก่อน สังคมเล็ก ๆ นี้ละครับ ท่านบอกว่าทุกคนเป็นนักการเมืองทั้งนั้น หัวหน้าครอบครัวก็ต้องเป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดครอบครัวให้มีความสุข หัวหน้าหมู่บ้านก็เป็นนักการเมือง เพราะต้องจัดหมู่บ้านให้คนในหมู่บ้านมีความสุข เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน ถ้าเราหลุดพ้นจากตัวกูของกูในครอบครัว ครอบครัวก็จะสันติ มีความสุข
ท่านพุทธทาสบอกว่า คนขาดสติจะเป็นคนที่วิ่งหาธรรมะ แต่ธรรมะจะวิ่งหาคนที่มีสติ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านปราศจากความเป็นตัวกูของกู และจงมีสติเพื่อให้เกิดปัญญา คิดหาทางแก้ไขปัญหาของท่านและครอบครัวต่อไป ถึงแม้ว่าเราอยู่ในโลกประชาธิปไตย แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีทุนนิยมปนอยู่เพราะเรารับสังคมของตะวันตกมาเต็มที่ อย่างที่คุณหมอประเวศท่านเขียนหนังสือไว้ว่าความสุขตามคำสอนของท่านพุทธทาสกับความสุขในค่านิยมทางตะวันตกนั้นแตกต่างกัน ตะวันตกถือว่าความสุขคือ การที่สามารถตอบสนองกิเลสของตัวเองได้ ส่วนท่านพุทธทาสนั้นท่านสอนให้หลุดพ้นจากการเป็นตัวกูของกู หลุดพ้นจากกิเลสเพื่อให้จิตว่าง ถ้าจิตว่างอย่างที่สุดนั้นท่านเรียกว่านิพพาน ซึ่งนิพพานนั้นอาจจะอยู่ในวัฏสงสารได้เป็นอะไรที่เป็นข้อโต้แย้งที่สนุกดีเหมือนกัน
สุดท้ายคงจำได้ที่เราเรียนหนังสือตอนเด็กๆ เรื่องที่พระพุทธเจ้าโปรดองคุลิมาล ผมอยากให้คำโปรดของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเหมือนกับเป็นการโปรดให้แก่นักการเมืองทั่วไปด้วย องคุลิมาลเรียกให้ท่านหยุดพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสว่าเราหยุดแล้ว ตัวท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด องคุลิมาลก็ครุ่นคิดในคำว่าหยุดว่าคืออะไรเพราะจะหยุดได้อย่างไรในเมื่อยังเห็นพระพุทธเจ้ายังเสด็จต่อไปข้างหน้าเรื่อย ๆ หยุดของพระพุทธเจ้าที่โปรดองคุลิมาลในที่นี้คือ หยุดความเป็นตัวกู-ของกู หยุดกิเลสและจงหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งองคุลิมาลก็หยุดได้ในที่สุดเพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองทุกคนสามารถหยุด "ตัวกู-ของกู" ปราศจาก "ตัวกู-ของกู" ได้ ประเทศชาติจะมีความสุขมาก ถ้าเราทำอะไรเพื่อคนอื่น เพื่อเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายได้นั้น ย่อมทำให้สังคมมีสุขและสันติสุขตลอดไปขอให้ทุกท่านมีความสุขตลอดไปขอขอบคุณ สวัสดี
คงจะมีหลายคนได้ดวงตาเห็นธรรมกันบ้างนะ อย่างไรก็ตามคนรู้ธรรมกับคนมีธรรมต่างกัน บางคนรู้ธรรมมากแต่เอาตัวไม่รอดก็มี ดังนั้นขอให้ทุกท่านมีธรรมมากกว่ารู้ธรรมก็แล้วกัน
mhanation.net
รายงาน
วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551
พุทธวิธีผจญมารตีนตบปิดล้อมรัฐสภากันรัฐบาลมาร์คแถลงนโยบาย
วันพรุ่งนี้ 29 ธันวาคม รัฐบาลมาร์คจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อบริหารประเทศแก้วิกฤติเศรษฐกิจคนตกงาน โรงงานปิด ขนะเดียวกันก็มีกระแสต่อต้านจากกลุ่ม นปช.ตั้งเวทีโจมตีที่ท้องสนามหลวงเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมนี้
ขณะเดียวกันรัฐมนตรีเดินทางไปไหนก็มีคนเสื้อแดงใช้ตีบตบแห่ไล่เลียนแบบกลุ่มพันธมิตรให้มือตบแห่ไล่คนรัฐบาลชุดที่แล้วชนิดหนามยอกเอาหนามบ่ง แบบนี้แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรฆ่ากันเลยดีมะมันจะได้จบๆคนจะได้น้อยลงจะได้ไม่ต้องแย่งกันกิน
วันนี้ (28 ธันวาคม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีได้นำกระเช้าผลไม้เข้าอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พล.อ.เปรม กล่าวแนะนำว่า ขณะนี้บ้านเมืองเรากำลังลำบากประชาชนไม่ค่อยมีความสุข แต่บ้านเมืองเราโชคดีที่นายอภิสิทธิ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองได้ด้วยความร่วมมือขอคนทั้งประเทศ
“ผมดีใจที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่อ "อภิสิทธิ์" และคิดว่าคนไทยก็ดีใจแต่คนไทยยังคงไม่หายกลัวเท่าไหร่ คงต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอะไรไปมอบให้เขาได้บ้างในระยะเวลาที่นายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาล” ประธานองค์มนตรี กล่าวและว่า
ตนรู้จักนายอภิสิทธิ์นานพอสมควรและเข้าใจดีว่านายอภิสิทธิ์ได้เข้ามาเล่นการเมืองเพื่ออะไร มั่นใจว่านายอภิสิทธิ์จะช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนให้น้อยลงได้ อย่างที่ตนบอกแล้วว่าโจทย์นี้ยากแต่ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้ ดีใจที่มีพวกเราเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ คิดว่างานนี้ไม่เบาและต้องเหนื่อยมาก ๆ
“พวกเราทั้งหมดนี้ต้องจำคำ 5 คำคือ อดทน อดกลั้น เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างและสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น ถือเป็นคำบอก กล่าวของตนไปยังนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่เป็นคำแนะนำแต่บอกให้ทราบ เพราะไม่สมควรที่จะแนะนำ นายอภิสิทธิ์เป็นผู้รู้อะไรมากกว่าตนด้วยซ้ำไป หากสิ่งที่ตนพูดเป็นประโยชน์ก็ดีใจแต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ลืมไปก็แล้วกัน
บ้านเมืองของเรามีพระสยามเทวาธิราชและขอให้พระสยามเทวาธิราชโปรดดลบันดาลให้นายกรัฐมนตรีและทุกคนที่เป็นรัฐบาลและเป็นส.ส.โปรดแนะนำชี้ทางสว่างให้พวกเราทุกคน มอบความสำเร็จมอบความดีมอบความเป็นคนไทยให้กับพวกเราทุกคน เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ นายอภิสิทธิ์จะต้องเหนื่อยมากๆอย่างแน่นอน และมั่นใจว่านายอภิสิทธิ์พร้อมและยินดีที่จะเหนื่อยเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อคนไทย ขอให้ประสบความสำเร็จ” ประธานองค์มนตรี กล่าว
คำแนะนำของประธานองค์มนตรีทั้ง 5 คำนั้น มีคำหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นได้นั้นก็คือความอดทน หากมีความอดทนต่อคำด่าคำโจมตีได้แล้ว คนด่าก็เหมือนกับคนถ่มน้ำลายขึ้นฟ้าในที่สุดก็หล่นมาใส่น้ำตัวเขาเอง
ความอดทนนี้ก็ถือว่าเป็นพุทธวิธีประการหนึ่งที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาที่คนด่าได้ เฉกเช่นในพุทธกาลพรรษาที่ 9 พระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาของโฆษิตเศรษฐี ไปประทับจำพรรษาที่วัดซึ่งเศรษฐีเป็นผู้สร้าง ชื่อว่า โฆษิตาราม ที่กรุงโกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ มีพระเจ้าอุเทนเป็นกษัตริย์ปกครอง
ขณะประทับอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของมาคันทิยพราหณ์และภรรยา จึงเสด็จไปโปรดจนพราหณ์ทั้งสองคนได้บรรลุธรรม ขณะเดียวกันพราหณ์มีลูกสาวชื่อนางมาคันทิยาที่ยังสาวมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร ยังไม่มีผัว พราหณ์คงไม่ทราบวินัยพระว่าพระจะมีเมียไม่ได้ จึงได้ยกลูกสาวให้กับพระพุทธเจ้าเพราะเห็นศิริโฉมของพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นสามีของนาง
พระพุทธองค์ได้ตรัสห้ามว่า
“ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ ๆ ธิดามาร 3 คน (ตัณหา ราคะ อรดี) ซึ่งมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงามกว่าลูกสาวของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเราที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดีในลูกสาวของท่านที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตรและกรีส(ปัสสาวะและอุจจาระ)” (หากเป็นหนุ่มแก่หนุ่ม่อ่อนยุคปัจจุบันนี้คงจะตาลุกวาวมีหรือจะปฏิเสธ) ส่งผลให้นางมาคันทิยาผูกใจเจ็บอาฆาตจองเวรพระพุทธองค์
ต่อมานางได้เป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทนแห่งโกสัมพี จึงหาทางแก้แค้นพระพุทธองค์ ได้โดยสะดวก ดังนั้นเมื่อนางทราบว่าพระตถาคตเจ้าเสด็จมาโกสัมพี นางจึงจ้างบริวารของนางบ้าง ทาสและกรรมกรบ้าง ให้เที่ยวติดตามด่าพระพุทธองค์ ทุกมุมเมือง ทุกหนทุกแห่งที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป ด้วยคำด่า 10 ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว
พระอานนท์เถระซึ่งตามเสด็จได้ฟังแล้วสุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
“อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า
“ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วย่อมไม่เกิน 7 วัน ก็จะสงบระงับไปเอง”
แล้วพระพุทธองค์ก็แสดงพุทธพจน์ว่า
“ดูก่อนอานนท์! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตน เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิ เป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น”
นางมาคันทิยาเป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทน พระมเหสีใหญ่คือพระนางสามาวดี พุทธสาวิกาเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้ามาก เมื่อนางมาคันทิยากลั่นแกล้งพระศาสดาไม่สมประสงค์ ก็หันมาริษยาหาโทษให้พระนางสามาวดีจนพระเจ้าอุเทนทรงเชื่อและคิดจะประหารชีวิตพระนางสามาวดี
นางมาคันทิยาได้ว่าจ้างลิ้วล้อเผาปราสาทส่งให้พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์พร้อมกับหญิงบริวาร 500 คน แต่หญิงทั้ง 500 นั้นมีความไม่ประมาทในชีวิต เพราะอารมณ์จิตเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงได้แนะนำกันว่า พวกเราทั้งหลาย จงอย่าโกรธ ในพระนางมาคันธิยา จงอย่าโกรธ ผู้เผาปราสาท จงมีจิตคิดให้อภัยแก่คนทั้งสอง เร่งรัดรวบรวมกำลังใจสร้างความดีให้สูงยิ่งขึ้นไป ในขณะที่ไฟใกล้เข้ามา จวนจะเผาเข้ามาถึงกาย ก็ปรากฎว่า บางคนได้เป็นพระสกิทาคามี บางคนบรรลุถึงพระอนาคามี
พระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสแก่ พระอานนท์ ว่า "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เราเองนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิง 500 ที่ถึงว่าจะตายแล้ว ก็เหมือนกับคนที่ไม่ตาย"
ต่อมาพระเจ้าอุเทนทรงทราบข้อเท็จจริงภายหลัง จึงสั่งประหารชีวิตนางมาคันทิยาพร้อมทั้งบริวารและญาติ ด้วยการให้ขุดหลุมฝังนางมาคันทิยาและบริวารเพียงแค่คอ แล้วให้ไถจนอวัยวะฉีกขาดจากร่างกายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ส่วนนางมาคันทิยาผู้เป็นต้นเหตุ พระองค์รับสั่งให้เฉือนเนื้อของนาง นำไปทอดน้ำมันเดือดแล้วนำมาให้นางกิน ทรงกระทำอย่างนี้ จนกระทั่งนางสิ้นชีพไปบังเกิดในทุคติ
การตายของนางมาคันทิยาแบบนี้ พระพุทธองค์ ตรัสว่า นางมาคันธิยาในสมัยที่ยังไม่ตาย ก็เหมือนกับบุคคลที่ตายแล้ว คือ มีแต่ความชั่ว ไม่มีความดี ตายจากความเป็นสุข มีแต่ความเร่าร้อน
ดังนั้น การทำความชั่วอย่าได้คิดว่าจะมีคนอื่นต้องมาลงโทษ ก่อนที่คนอื่นจะลงโทษ กรรมที่เราทำความชั่ว มันก็ทำความเร่าร้อน ให้เกิดขึ้นแก่เรา ใครเขาพูดความชั่ว คราวใด เราก็สะดุ้ง เพราะเรามันเลว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อัตตนา โจทยัต ตานัง" จงเตือนตนไว้เสมอ และจงโจทก์ตน กล่าวโทษตน ไว้เป็นปกติหา ความชั่วของตัว อย่าไปหาความชั่ว ของบุคคลอื่น
mhanation.net
รายงาน
ขณะเดียวกันรัฐมนตรีเดินทางไปไหนก็มีคนเสื้อแดงใช้ตีบตบแห่ไล่เลียนแบบกลุ่มพันธมิตรให้มือตบแห่ไล่คนรัฐบาลชุดที่แล้วชนิดหนามยอกเอาหนามบ่ง แบบนี้แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรฆ่ากันเลยดีมะมันจะได้จบๆคนจะได้น้อยลงจะได้ไม่ต้องแย่งกันกิน
วันนี้ (28 ธันวาคม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีได้นำกระเช้าผลไม้เข้าอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พล.อ.เปรม กล่าวแนะนำว่า ขณะนี้บ้านเมืองเรากำลังลำบากประชาชนไม่ค่อยมีความสุข แต่บ้านเมืองเราโชคดีที่นายอภิสิทธิ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองได้ด้วยความร่วมมือขอคนทั้งประเทศ
“ผมดีใจที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่อ "อภิสิทธิ์" และคิดว่าคนไทยก็ดีใจแต่คนไทยยังคงไม่หายกลัวเท่าไหร่ คงต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอะไรไปมอบให้เขาได้บ้างในระยะเวลาที่นายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาล” ประธานองค์มนตรี กล่าวและว่า
ตนรู้จักนายอภิสิทธิ์นานพอสมควรและเข้าใจดีว่านายอภิสิทธิ์ได้เข้ามาเล่นการเมืองเพื่ออะไร มั่นใจว่านายอภิสิทธิ์จะช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนให้น้อยลงได้ อย่างที่ตนบอกแล้วว่าโจทย์นี้ยากแต่ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้ ดีใจที่มีพวกเราเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ คิดว่างานนี้ไม่เบาและต้องเหนื่อยมาก ๆ
“พวกเราทั้งหมดนี้ต้องจำคำ 5 คำคือ อดทน อดกลั้น เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างและสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น ถือเป็นคำบอก กล่าวของตนไปยังนายอภิสิทธิ์ไม่ใช่เป็นคำแนะนำแต่บอกให้ทราบ เพราะไม่สมควรที่จะแนะนำ นายอภิสิทธิ์เป็นผู้รู้อะไรมากกว่าตนด้วยซ้ำไป หากสิ่งที่ตนพูดเป็นประโยชน์ก็ดีใจแต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ลืมไปก็แล้วกัน
บ้านเมืองของเรามีพระสยามเทวาธิราชและขอให้พระสยามเทวาธิราชโปรดดลบันดาลให้นายกรัฐมนตรีและทุกคนที่เป็นรัฐบาลและเป็นส.ส.โปรดแนะนำชี้ทางสว่างให้พวกเราทุกคน มอบความสำเร็จมอบความดีมอบความเป็นคนไทยให้กับพวกเราทุกคน เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ นายอภิสิทธิ์จะต้องเหนื่อยมากๆอย่างแน่นอน และมั่นใจว่านายอภิสิทธิ์พร้อมและยินดีที่จะเหนื่อยเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อคนไทย ขอให้ประสบความสำเร็จ” ประธานองค์มนตรี กล่าว
คำแนะนำของประธานองค์มนตรีทั้ง 5 คำนั้น มีคำหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นได้นั้นก็คือความอดทน หากมีความอดทนต่อคำด่าคำโจมตีได้แล้ว คนด่าก็เหมือนกับคนถ่มน้ำลายขึ้นฟ้าในที่สุดก็หล่นมาใส่น้ำตัวเขาเอง
ความอดทนนี้ก็ถือว่าเป็นพุทธวิธีประการหนึ่งที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาที่คนด่าได้ เฉกเช่นในพุทธกาลพรรษาที่ 9 พระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาของโฆษิตเศรษฐี ไปประทับจำพรรษาที่วัดซึ่งเศรษฐีเป็นผู้สร้าง ชื่อว่า โฆษิตาราม ที่กรุงโกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ มีพระเจ้าอุเทนเป็นกษัตริย์ปกครอง
ขณะประทับอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของมาคันทิยพราหณ์และภรรยา จึงเสด็จไปโปรดจนพราหณ์ทั้งสองคนได้บรรลุธรรม ขณะเดียวกันพราหณ์มีลูกสาวชื่อนางมาคันทิยาที่ยังสาวมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร ยังไม่มีผัว พราหณ์คงไม่ทราบวินัยพระว่าพระจะมีเมียไม่ได้ จึงได้ยกลูกสาวให้กับพระพุทธเจ้าเพราะเห็นศิริโฉมของพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นสามีของนาง
พระพุทธองค์ได้ตรัสห้ามว่า
“ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ ๆ ธิดามาร 3 คน (ตัณหา ราคะ อรดี) ซึ่งมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงามกว่าลูกสาวของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเราที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดีในลูกสาวของท่านที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตรและกรีส(ปัสสาวะและอุจจาระ)” (หากเป็นหนุ่มแก่หนุ่ม่อ่อนยุคปัจจุบันนี้คงจะตาลุกวาวมีหรือจะปฏิเสธ) ส่งผลให้นางมาคันทิยาผูกใจเจ็บอาฆาตจองเวรพระพุทธองค์
ต่อมานางได้เป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทนแห่งโกสัมพี จึงหาทางแก้แค้นพระพุทธองค์ ได้โดยสะดวก ดังนั้นเมื่อนางทราบว่าพระตถาคตเจ้าเสด็จมาโกสัมพี นางจึงจ้างบริวารของนางบ้าง ทาสและกรรมกรบ้าง ให้เที่ยวติดตามด่าพระพุทธองค์ ทุกมุมเมือง ทุกหนทุกแห่งที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป ด้วยคำด่า 10 ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว
พระอานนท์เถระซึ่งตามเสด็จได้ฟังแล้วสุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
“อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า
“ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วย่อมไม่เกิน 7 วัน ก็จะสงบระงับไปเอง”
แล้วพระพุทธองค์ก็แสดงพุทธพจน์ว่า
“ดูก่อนอานนท์! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตน เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิ เป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น”
นางมาคันทิยาเป็นมเหสีรองของพระเจ้าอุเทน พระมเหสีใหญ่คือพระนางสามาวดี พุทธสาวิกาเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้ามาก เมื่อนางมาคันทิยากลั่นแกล้งพระศาสดาไม่สมประสงค์ ก็หันมาริษยาหาโทษให้พระนางสามาวดีจนพระเจ้าอุเทนทรงเชื่อและคิดจะประหารชีวิตพระนางสามาวดี
นางมาคันทิยาได้ว่าจ้างลิ้วล้อเผาปราสาทส่งให้พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์พร้อมกับหญิงบริวาร 500 คน แต่หญิงทั้ง 500 นั้นมีความไม่ประมาทในชีวิต เพราะอารมณ์จิตเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงได้แนะนำกันว่า พวกเราทั้งหลาย จงอย่าโกรธ ในพระนางมาคันธิยา จงอย่าโกรธ ผู้เผาปราสาท จงมีจิตคิดให้อภัยแก่คนทั้งสอง เร่งรัดรวบรวมกำลังใจสร้างความดีให้สูงยิ่งขึ้นไป ในขณะที่ไฟใกล้เข้ามา จวนจะเผาเข้ามาถึงกาย ก็ปรากฎว่า บางคนได้เป็นพระสกิทาคามี บางคนบรรลุถึงพระอนาคามี
พระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสแก่ พระอานนท์ ว่า "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เราเองนึกถึงความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิง 500 ที่ถึงว่าจะตายแล้ว ก็เหมือนกับคนที่ไม่ตาย"
ต่อมาพระเจ้าอุเทนทรงทราบข้อเท็จจริงภายหลัง จึงสั่งประหารชีวิตนางมาคันทิยาพร้อมทั้งบริวารและญาติ ด้วยการให้ขุดหลุมฝังนางมาคันทิยาและบริวารเพียงแค่คอ แล้วให้ไถจนอวัยวะฉีกขาดจากร่างกายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ส่วนนางมาคันทิยาผู้เป็นต้นเหตุ พระองค์รับสั่งให้เฉือนเนื้อของนาง นำไปทอดน้ำมันเดือดแล้วนำมาให้นางกิน ทรงกระทำอย่างนี้ จนกระทั่งนางสิ้นชีพไปบังเกิดในทุคติ
การตายของนางมาคันทิยาแบบนี้ พระพุทธองค์ ตรัสว่า นางมาคันธิยาในสมัยที่ยังไม่ตาย ก็เหมือนกับบุคคลที่ตายแล้ว คือ มีแต่ความชั่ว ไม่มีความดี ตายจากความเป็นสุข มีแต่ความเร่าร้อน
ดังนั้น การทำความชั่วอย่าได้คิดว่าจะมีคนอื่นต้องมาลงโทษ ก่อนที่คนอื่นจะลงโทษ กรรมที่เราทำความชั่ว มันก็ทำความเร่าร้อน ให้เกิดขึ้นแก่เรา ใครเขาพูดความชั่ว คราวใด เราก็สะดุ้ง เพราะเรามันเลว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อัตตนา โจทยัต ตานัง" จงเตือนตนไว้เสมอ และจงโจทก์ตน กล่าวโทษตน ไว้เป็นปกติหา ความชั่วของตัว อย่าไปหาความชั่ว ของบุคคลอื่น
mhanation.net
รายงาน
วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551
การเมืองไทยยุคช้างเท้าหลังเดินหน้าผัวนอนอยู่บ้านเลขที่111
ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉับยุบพรรคการเมืองเป็นต้นมา บรรดาสตรีทั้งหลายน่าจะยินดีที่ได้มีสิทธิ์มีเสียงตีตื้นผู้ชายมากขึ้น ดูจากสถิติของนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ สตรีได้รับการเลือกตั้งเข้ามามาก
ก่อนหน้านี้เราได้เห็นสภาพ ”สภาผัวสภาเมีย” คราวมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผัวเป็น ส.ส. ก็ส่งเมียลงสมัคร ส.ว. และก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่น้อย เมื่อมีการยุบพรรค กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผัวถูกสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จึงส่งเมียลงสมัคร ส.ส.แทน พร้อมกันนี้ก็ได้มีการผลักดันให้เมียเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจนเกิดปรากฏการณ์ รมต.โหล หาคุณภาพไม่เจอ
มาถึงคราวครม.อภิสิทธิ์1 นี้ก็เช่นเดียวกัน ก็ได้มีรมต.หญิ.เข้ามาทำหน้าที่แทนสามีมากถึง 3 คนคือ
1.ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที ภรรยาว่าที่ร.ต.โพโรจน์ อดีตส.ส.ทรท.
2.นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ภรรยา นายอนุชา อดีต ส.ส.ชัยนาท ทรท.
3.นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธิ์ รมช.ศึกษา ภรรยา นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ทรท.
และเมื่อดูรายชื่อผู้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อมแทนอดีตส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์เพราะการยุบพรรคจำนวน 29 คน ตั้งแต่วันที่ 22-26 ธ.ค.และจะมีการเลือกตั้งวันที่ 11 ม.ค. 2552 ก็พบว่ามีภรรยาอดีตส.ส.ลงสมัครหลายเขตด้วยกันอาทิ
1.นางรัชนี พลซื่อ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด สามีคือนายเอกภาพ พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยรักไทย ถูกตัดสิทธิ์ ลงสมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 2 พรรคเพื่อแผ่นดิน
2.นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลูกสาวของนายกมล จิระพันธุ์วาณิช อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทย ถูกตัดสิทธิ์เพราะยุบพรรค ลงสมัคร ส.ส.ลพบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา
3.นางสกุลทิพย์ อังคสกุลเกียรติ มารดาของนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา
4.นางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ ภรรยานายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เขต 1 ที่ถูกตัดสิทิธิ์ ลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 1 พรรคเพื่อไทย
5.นางพัชรี โพธสุธน พี่สาวของนายยุทธนา โพธสุธน อดีตส.ส.สุพรรณบุรีเขต 2 พรรคชาติไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ และเป็นหลานสาวนายประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา
6.นางเจติยา เลี้ยงผ่องพันธุ์ ภรรยานายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อดีตส.ส.บุรีรัมย์เขต 4 พรรคชาติไทย ลงสมัครส.ส.บุรีรัมย์ เขต 4 พรรคชาติไทยพัฒนา
7.นางอุดร จินตะเวช น้องสะใภ้ของนายตุ่น จินตะเวช ส.ส.เขต 3 อุบลราชธานี พรรคชาติไทย ลงสมัครส.ส.เขต 3 อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา
นอกจากนี้ก็จะเป็นลูก หลาน ญาติพี่น้องของอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร เพียบ
ดังนั้นดูจากรายชื่อเหล่านี้จึงทำให้มีความรู้สึกว่าตำแหน่ง ส.ส.ได้กลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่เมียสู่ลูกสู่ญาติ อยากที่คนอื่นที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แม้นว่าจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใดก็ตาม
เพราะอะไรก็เพราะต้องการที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เห็นภาพรมต.โหล แบบนี้การเมืองไทยถึงไม่ค่อยพัฒนาแก้ปัญหาชาติไม่ค่อยได้
mhanation.net
รายงาน
ก่อนหน้านี้เราได้เห็นสภาพ ”สภาผัวสภาเมีย” คราวมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผัวเป็น ส.ส. ก็ส่งเมียลงสมัคร ส.ว. และก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่น้อย เมื่อมีการยุบพรรค กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผัวถูกสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จึงส่งเมียลงสมัคร ส.ส.แทน พร้อมกันนี้ก็ได้มีการผลักดันให้เมียเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจนเกิดปรากฏการณ์ รมต.โหล หาคุณภาพไม่เจอ
มาถึงคราวครม.อภิสิทธิ์1 นี้ก็เช่นเดียวกัน ก็ได้มีรมต.หญิ.เข้ามาทำหน้าที่แทนสามีมากถึง 3 คนคือ
1.ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที ภรรยาว่าที่ร.ต.โพโรจน์ อดีตส.ส.ทรท.
2.นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ภรรยา นายอนุชา อดีต ส.ส.ชัยนาท ทรท.
3.นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธิ์ รมช.ศึกษา ภรรยา นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ทรท.
และเมื่อดูรายชื่อผู้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อมแทนอดีตส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์เพราะการยุบพรรคจำนวน 29 คน ตั้งแต่วันที่ 22-26 ธ.ค.และจะมีการเลือกตั้งวันที่ 11 ม.ค. 2552 ก็พบว่ามีภรรยาอดีตส.ส.ลงสมัครหลายเขตด้วยกันอาทิ
1.นางรัชนี พลซื่อ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด สามีคือนายเอกภาพ พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยรักไทย ถูกตัดสิทธิ์ ลงสมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 2 พรรคเพื่อแผ่นดิน
2.นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ลูกสาวของนายกมล จิระพันธุ์วาณิช อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทย ถูกตัดสิทธิ์เพราะยุบพรรค ลงสมัคร ส.ส.ลพบุรี เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา
3.นางสกุลทิพย์ อังคสกุลเกียรติ มารดาของนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคชาติไทยพัฒนา
4.นางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ ภรรยานายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เขต 1 ที่ถูกตัดสิทิธิ์ ลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 1 พรรคเพื่อไทย
5.นางพัชรี โพธสุธน พี่สาวของนายยุทธนา โพธสุธน อดีตส.ส.สุพรรณบุรีเขต 2 พรรคชาติไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ และเป็นหลานสาวนายประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา
6.นางเจติยา เลี้ยงผ่องพันธุ์ ภรรยานายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อดีตส.ส.บุรีรัมย์เขต 4 พรรคชาติไทย ลงสมัครส.ส.บุรีรัมย์ เขต 4 พรรคชาติไทยพัฒนา
7.นางอุดร จินตะเวช น้องสะใภ้ของนายตุ่น จินตะเวช ส.ส.เขต 3 อุบลราชธานี พรรคชาติไทย ลงสมัครส.ส.เขต 3 อุบลราชธานี พรรคชาติไทยพัฒนา
นอกจากนี้ก็จะเป็นลูก หลาน ญาติพี่น้องของอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัคร เพียบ
ดังนั้นดูจากรายชื่อเหล่านี้จึงทำให้มีความรู้สึกว่าตำแหน่ง ส.ส.ได้กลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่เมียสู่ลูกสู่ญาติ อยากที่คนอื่นที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แม้นว่าจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใดก็ตาม
เพราะอะไรก็เพราะต้องการที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่เห็นภาพรมต.โหล แบบนี้การเมืองไทยถึงไม่ค่อยพัฒนาแก้ปัญหาชาติไม่ค่อยได้
mhanation.net
รายงาน
ท้องถิ่นสะท้านมาร์คถามหางบแสนล้านแก้วิกฤติเศรษฐกิจ
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มุ่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ได้สำรวจเม็ดเงินที่จะนำไปฟื้นฟูเศรษฐิจ แก้ปัญหาโรงงานปิดตัว คนตกงาน ตัวเลขคร่าวๆ 3 แสนล้านบาท พร้อมกับประกาศหากแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่สำเร็จทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแน่
เม็ดเงินจำนวน 3 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลจะเอามาจากไหน เพราะการจัดเก็บภาษีในยามวิกฤติเช่นนี้ย่อมไม่เข้าเป้าอย่างแน่นอน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ประมาณการณ์คร่าวๆได้มาจาก
1.งบกลาง 1 แสนล้านบาท
2.เงินผ่านธนาคารของรัฐตามโครงการต่างๆอาทิ โครงการเกี่ยวกับการเกษตร หรือเอ็มเอ็มอี 1 แสนล้านบาท
3.งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท
เมื่อเห็นตัวเลขเช่นนี้ก็พอจะเบาใจได้ว่ารัฐบาลมีเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทันทีที่มีข่าวออกมาเช่นนี้ก็มีเสียงดังจากผู้บริหาร อปท.ว่าเป็นการดึงงบประมาณของท้องถิ่นกลับไปเป็นงบกลาง เพื่อที่รัฐบาลจะบริหารเอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ออกมาชี้แจงทันทีว่าไม่ใช่เป็นการดึงงบประมาณท้องถิ่นมาบริหารเอง แต่เป็นการกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ให้ท้องถิ่นนำไปใช้จ่ายตามโครงการที่กำหนดให้มากที่สุด เพราะสงสัยว่าทำไมถึงค้างอยู่ส่วนกลางมากเช่นนี้
ดังนั้นก็อยู่ที่ท้องถิ่นหละจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้สอดคล้องกับการแก้วิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร ไม่ใช่เป็นการกระจายลงไปในกระเป๋าผู้บริหารท้องถิ่นหรือวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง จะต้องนำงบประมาณส่วนนี้ไปสร้างอาชีพสร้างงานให้กับชาวบ้านหรือคนงานที่ตกงานแล้วกลับไปยังภูมิลำเนา เพราะล่าสุดเห็นจะให้ท้องถิ่นตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนว่างงานก็ไม่รู้ว่าท้องถิ่นมีการขยับกันบ้างหรือยัง หรือว่ารอเงินรอการประสานจากส่วนกลาง ในยุคอย่างนี้ท้องถิ่นจะต้องหูตาไหวรับฟังข่าวสารหรือทิศทางของรัฐบาลจะไปทางไหน แล้วสามารถตั้งแท่นรองรับได้ทันที
และควรจะหมดยุคได้แล้วประเภทนำงบประมาณไปสร้างถนนปีเดียวพัง ปีใหม่ก็ของบมาทำใหม่ เงินก็เข้ากระเป๋าผู้รับเหมา ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่น แบบนี้ก็แย่ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติทางอ้อม
หากรัฐบาลกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณท้องถิ่น 1 แสนล้านบาทเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้สอดคล้องกับแผนกระกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีปัญหาหรือมีเสียงคัดค้านจากผู้บริหารท้องถิ่น ดูอย่างนายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกุล ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต. แห่งประเทศไทย หรือนายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามแผนที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะงบประมาณที่กำหนดให้รัฐต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นร้อยละ35 ซึ่งปัจจุบันนี้จัดสรรให้เพียงร้อยละ25เท่านั้น ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดให้จัดสรรให้ร้อยละ35 ในปี 2549 แล้ว
ถ้าจะให้ดีนายชาตรีเสนอว่า นายอภิสิทธิ์ควรจะนั่งประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ด้วยตัวเอง เพราะเคยนั่งมาแล้วสมัยเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2542 เพราะที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีนายกฯคนไหนเข้ามานั่ง
ก็คงต้องดูกันต่อไปว่านายอภิสิทธิ์จะเข้ามาเป็นประธาน กกถ.เองหรือไม่ เพราะหากเข้ามาดูเองแล้วก็เชื่อแน่ว่าจะทำให้งาน เงินส่วนให้มีความคล่องตัวและจะเป็นการกระตุ้นการเบิกจ่ายได้อีกทาง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวกับท้องถิ่นคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อยู่ในการดูแลของรมต.กลุ่มเพื่อนเนวิน หากจะให้รมต.ประจำสำนักนายกฯคนใดคนหนึ่งในสองคนดูท่าทางแล้วจะไม่สันทัดเท่านายอภิสิทธิ์ จึงเกรงว่าเม็ดเงินส่วนนี้อาจจะมีการเบิกจ่ายไม่ตรงเป้าหรือทันการก็เป็นได้
ดังนั้น นายกฯอภิสิทธิ์อย่ามองข้ามงานท้องถิ่น เพราะหนูอาจจะช่วยราชสีห์ได้นะ เพราะราชสีห์ตัวที่ผ่านๆๆมาไม่เคยเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังเลย
Mhanation.net
รายงาน
เม็ดเงินจำนวน 3 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลจะเอามาจากไหน เพราะการจัดเก็บภาษีในยามวิกฤติเช่นนี้ย่อมไม่เข้าเป้าอย่างแน่นอน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ประมาณการณ์คร่าวๆได้มาจาก
1.งบกลาง 1 แสนล้านบาท
2.เงินผ่านธนาคารของรัฐตามโครงการต่างๆอาทิ โครงการเกี่ยวกับการเกษตร หรือเอ็มเอ็มอี 1 แสนล้านบาท
3.งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท
เมื่อเห็นตัวเลขเช่นนี้ก็พอจะเบาใจได้ว่ารัฐบาลมีเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทันทีที่มีข่าวออกมาเช่นนี้ก็มีเสียงดังจากผู้บริหาร อปท.ว่าเป็นการดึงงบประมาณของท้องถิ่นกลับไปเป็นงบกลาง เพื่อที่รัฐบาลจะบริหารเอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ออกมาชี้แจงทันทีว่าไม่ใช่เป็นการดึงงบประมาณท้องถิ่นมาบริหารเอง แต่เป็นการกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ให้ท้องถิ่นนำไปใช้จ่ายตามโครงการที่กำหนดให้มากที่สุด เพราะสงสัยว่าทำไมถึงค้างอยู่ส่วนกลางมากเช่นนี้
ดังนั้นก็อยู่ที่ท้องถิ่นหละจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้สอดคล้องกับการแก้วิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร ไม่ใช่เป็นการกระจายลงไปในกระเป๋าผู้บริหารท้องถิ่นหรือวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง จะต้องนำงบประมาณส่วนนี้ไปสร้างอาชีพสร้างงานให้กับชาวบ้านหรือคนงานที่ตกงานแล้วกลับไปยังภูมิลำเนา เพราะล่าสุดเห็นจะให้ท้องถิ่นตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนว่างงานก็ไม่รู้ว่าท้องถิ่นมีการขยับกันบ้างหรือยัง หรือว่ารอเงินรอการประสานจากส่วนกลาง ในยุคอย่างนี้ท้องถิ่นจะต้องหูตาไหวรับฟังข่าวสารหรือทิศทางของรัฐบาลจะไปทางไหน แล้วสามารถตั้งแท่นรองรับได้ทันที
และควรจะหมดยุคได้แล้วประเภทนำงบประมาณไปสร้างถนนปีเดียวพัง ปีใหม่ก็ของบมาทำใหม่ เงินก็เข้ากระเป๋าผู้รับเหมา ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่น แบบนี้ก็แย่ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติทางอ้อม
หากรัฐบาลกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณท้องถิ่น 1 แสนล้านบาทเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้สอดคล้องกับแผนกระกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีปัญหาหรือมีเสียงคัดค้านจากผู้บริหารท้องถิ่น ดูอย่างนายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกุล ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต. แห่งประเทศไทย หรือนายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามแผนที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะงบประมาณที่กำหนดให้รัฐต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นร้อยละ35 ซึ่งปัจจุบันนี้จัดสรรให้เพียงร้อยละ25เท่านั้น ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดให้จัดสรรให้ร้อยละ35 ในปี 2549 แล้ว
ถ้าจะให้ดีนายชาตรีเสนอว่า นายอภิสิทธิ์ควรจะนั่งประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ด้วยตัวเอง เพราะเคยนั่งมาแล้วสมัยเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2542 เพราะที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีนายกฯคนไหนเข้ามานั่ง
ก็คงต้องดูกันต่อไปว่านายอภิสิทธิ์จะเข้ามาเป็นประธาน กกถ.เองหรือไม่ เพราะหากเข้ามาดูเองแล้วก็เชื่อแน่ว่าจะทำให้งาน เงินส่วนให้มีความคล่องตัวและจะเป็นการกระตุ้นการเบิกจ่ายได้อีกทาง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวกับท้องถิ่นคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อยู่ในการดูแลของรมต.กลุ่มเพื่อนเนวิน หากจะให้รมต.ประจำสำนักนายกฯคนใดคนหนึ่งในสองคนดูท่าทางแล้วจะไม่สันทัดเท่านายอภิสิทธิ์ จึงเกรงว่าเม็ดเงินส่วนนี้อาจจะมีการเบิกจ่ายไม่ตรงเป้าหรือทันการก็เป็นได้
ดังนั้น นายกฯอภิสิทธิ์อย่ามองข้ามงานท้องถิ่น เพราะหนูอาจจะช่วยราชสีห์ได้นะ เพราะราชสีห์ตัวที่ผ่านๆๆมาไม่เคยเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังเลย
Mhanation.net
รายงาน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)