วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การเมืองใหม่ต้องยึดวิถีพุทธเสื้อเหลือง-แดงยึดวิถีอะไร

เห็นภาพนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร ฯ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย และทำพิธีแก้เคล็ด ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยนิมนต์พระสงฆ์มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์บนเวทีใหญ่ และพื้นที่ชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล



หลังจากนั้นนายสนธิก็ได้นำน้ำมนต์ประพรมด้วยตัวเอง พร้อมกับนำผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมพิธีใส่ชุดขาวและถือศีล 5 ประมาณ 100 คนเดินตาม เพื่อปัดกวาดสิ่งสกปรกและเก็บขยะที่ตกอยู่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลไปทิ้ง ทำให้คิดว่านายสนธิเปลี่ยนสีแล้วหรือไร เพราะปกติแล้วจะใส่เสื้อเหลือง

อย่างไรก็ตามการแก้เคล็ดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยนิมนต์พระสงฆ์มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น หากพิจารณาตามวิถีพุทธอย่างแท้จริง แล้วก็ดูค่อนข้างจะไม่ตรงเท่าใดหนัก มีแนวโน้วไปทางไสยศาสตร์ด้วยซ้ำไป แม้นจะอ้างว่าพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาก็ทำกันทั้งนั้น

แต่การทำน้ำมนต์นั้นแม้จะมีที่มาว่าพระพุทธเจ้าได้สวดพระปริตรบทยัง กิญจิ แล้วให้พระนำน้ำไปประพรมบริเวณต่างๆเพื่อปัดเป่าโรคภัยต่างๆ แต่ตำนานของพระปริตรก็เกิดขึ้นภาพหลัง ซึ่งการทำน้ำมนต์นี้พระสายปฏิบัติอย่างหลวงพ่อปัญญา หลวงพ่อพุทธทาส ปฏิเสธและบอกว่าเป็นไสยศาสตร์ด้วยซ้ำไป

บ่อยครั้งที่นายสนธิปราศรัยโจมตีคนชื่อทักษิณและพรรคพลังประชาชน มักจะกล่าวอ้างว่ามีทำไสยศาสตร์ในหลายแห่งตามหมอเขมร อย่างเช่นเหตุการณ์ทำลายเทวรูปที่เขาพนมรุ้ง และมักจะว่าอ้างว่าตัวเองอยู่ฝ่ายธรรมะแต่คนชื่อทักษิณและพรรคพลังประชาชอยู่ฝ่ายอธรรม

แต่พฤติกรรมที่นายสนธิทำหลายครั้งบนเวทีปราศรัยก็ใช้วิธีไสยศาสตร์มาเป็นตัวดึงมวลชนเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากพิจารณาจากจุดนี้ทั้งนายสนธิ กลุ่มพันธมิตร คนชื่อทักษิณ พรรคพลังประชาชนก็หาได้ยึดวิถีพุทธอย่างแท้จริงไม่

สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรเรียกร้องถึงการเมืองใหม่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันคืออะไรกันแน่ หากจะบอกว่าคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของนักการเมืองปัจจุบันนี้แล้ววิธีการที่จะเป็นหละคืออะไร ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรก็ยังพูดไม่ชัด

แน่นอนเป้าหมายการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรดูจะดี ถูกต้อง แต่พฤติกรรมบ้างอย่างอาจะไม่ถูกต้องอย่างเช่นการทำน้ำมนต์ หรือพฤติกรรมของการ์ดพันธมิตรวันที่ 9 พ.ย.ที่ตำรวจสามารถจับได้ว่าได้พกระเบิดและอาวุธหลายชนิด กลุ่มพันธมิตรโจมตี นปช.ป่าเถื่อน แต่ในทางตรงขันข้ามก็เห็นความป่าเถื่อนมีอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเช่นกันแม้นจะไม่มาก แต่ก็มีความมีอยู่

เท่าที่คิดได้ด้วยปัญญาอันน้อยนิดนี้การเมืองใหม่ตามที่กลุ่มพันธมิตรประกาศนั้น น่าจะเป็นการเมืองใหม่ตามวิถีพุทธ อย่างเช่นที่ ศ.นายแพทย์ประสพ รัตนากร ประธานคณะที่ปรึกษามูลนิธิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวยอมรับเมื่อวันที่ 9 พ.ย.นี้ว่า รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ตึงเครียดในบ้านเมืองอย่างมาก และขอให้ทุกฝ่ายยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งมีตอนหนึ่งทรงรับสั่งว่า บ้านไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ แต่บ้านเมืองจะปลอดภัย ซึ่งทุกคนควรนำเรื่องนี้เป็นแนวทาง

อีกทั้งที่ผ่านมาประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ได้กล่าวอยู่เสมอว่า ให้รู้จักรักสามัคคี อดทน อดกลั้น เสียสละ คนเราจะเอา จะรับไปเสียทุกอย่างคงไม่ได้ และขอให้ทุกฝ่ายยึดส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ซึ่งคำว่าส่วนรวมนี้ก็คือหลักของอนัตตาตามวิถีพุทธนั้นเอง


ทั้งนี้ ศ. น.พ.ประสพ ยังได้หยิบยกบทกวีของเชคสเปียร์ นักกวีเอกของโลก ที่ได้กล่าวไว้ว่า The sea as found, deep beside as none. แปลความว่า ทะเลยังมีฝั่ง มีขอบเขต แต่กิเลสของคนนี้ไซร้ หาขอบเขตบ่มิได้ ทั้งโกรธ ทั้งโลภ ทั้งหลง เพื่อกล่าวฝากให้กับคนไทยทุกคนนำไปเป็นข้อคิด เพราะทุกคนมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นหัวใจของการเมืองใหม่ตามวิถีพุทธก็คือ ยึดส่วนรวมหรืออนัตตามากกว่าส่วนตนหรืออัตตา ซึ่งก็หลักเดียวกันหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนรายละเอียดของการเมืองใหม่ตามวิถีพุทธจะเป็นอย่างไรนั้น ขั้นต้นนี้ด้วยเวลาอันจำกัดตอนที่เขียนนี้ก็ตีสามสิบสี่นาที่แล้ว แต่ได้อ่านบทความเรื่อง"เป็นผู้บริหารแบบผู้ตื่นรู้" ทางหนังสือพิมพ์โฟสต์ ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 พ.ย.ที่เขียนโดย วรธาร ทัดแก้ว ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารงานของ ช่อผกา วิริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ พลัส เอนเตอร์เทนเม้นท์ ที่หลายคนทราบผลงานเธอดีในวงการสือสารมวลชน จึงขอยกมาประกอบเพื่อยังประโยชน์ในการศึกษาหรือเป็นพื้นฐานในการศึกษาการเมืองใหม่ต่อไปดังนี้



"เป็นผู้บริหารแบบผู้ตื่นรู้
ช่อผกา วิริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ พลัส เอนเตอร์เทนเม้นท์ มีประสบการณ์ในเรื่องของธรรมะจากการที่ได้เป็นอาสาสมัครของเสถียรธรรมสถานมานานถึง 8 ปี

เป็นผู้หนึ่งที่ได้นำหลักการบริหารเชิงพุทธมาใช้ในองค์กรที่เธอเป็นผู้บริหารสูงสุดได้ผลเป็นที่น่าประทับใจ การบริหารแนวพุทธต่างจากตะวันตก

ซีอีโอสาวแห่งเอ พลัสฯ ได้พูดถึงการบริหารองค์กรในแบบตะวันตกและการบริหารในเชิงพุทธไว้ว่า การบริหารองค์กรในวิถีของตะวันตกนั้นเป็นการบริหารแบบแนวตั้ง คือเป็นลำดับชั้นจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง มีเจ้านายอยู่เหนือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นขั้นๆ ไป แต่การบริหารเชิงพุทธ เป็นการกระจายอำนาจในแนวระนาบ กล่าวคือมองว่ามนุษย์ทุกคนในองค์กรเป็นพี่น้องกัน มีศักยภาพใกล้เคียงกัน และมีความเท่าเทียมกันในแง่ของความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติทุกคน

พระพุทธเจ้าทรงสร้างระบบชุมชนที่เรียกว่าสังฆะขึ้นมา โดยผู้ที่อยู่ในสังฆะต้องเป็นบุคคลที่เคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มีความเท่าเทียมกันในแง่ของศีล คือความประพฤติดีปฏิบัติชอบ และมีความเท่าเทียมในแง่ของทิฐิ คือการเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เรียกว่าสิกขาบทซึ่งทรงวางไว้ให้ทุกคนในสังฆะได้ปฏิบัติตามเพื่อความดีงามและความเจริญเป็นปึกแผ่นของสังฆะ

“มีการยกระดับจิตใจของคนในสังฆะให้ใกล้เคียงกัน มีการกระจายอำนาจโดยให้ทุกคนเคารพและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง ทุกคนเสมอภาคในเรื่องของศีลและทิฐิ ซึ่งถ้าในสังฆะมีคนที่แตกต่างกันมากทั้งในแง่ของศีลและทิฐิ สังฆะก็อาจแตกได้ ถ้าใครที่ละเมิดระเบียบวินัย (ศีล) ของสังฆะอย่างรุนแรง ก็ต้องถูกเชิญออกจากสังฆะไปสังฆะจึงจะอยู่ได้” ช่อผกา พูดถึงส่วนหนึ่งของรูปแบบการบริหารเชิงพุทธ

มนุษย์ (ทุกคน) มีเมล็ดพันธุ์ความดี

ช่อผกา กล่าวว่า ในองค์กรบริษัทจะใช้การบริหารแนวพุทธเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่พระพุทธเจ้าบริหารสังฆะที่ทรงสร้างขึ้นไม่ได้ เพราะบริษัทเอกชนมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการหารายได้ มิใช่เพื่อการดับทุกข์หรือต้องการมรรค ผล นิพพาน อย่างสังฆะในแบบของพระพุทธศาสนา แต่ก็จำเป็นต้องมีการบริหารแบบนี้เกิดขึ้นในองค์กรมากกว่าที่จะใช้การบริหารในวิถีตะวันตกอย่างเดียว

ซีอีโอแห่งเอ พลัสฯ กล่าวต่อไปว่า เพราะในองค์กรบริษัททั้งหลายไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้พนักงานที่ดีและมีความสามารถเลอเลิศทุกคน บางคนนิสัยดี ฉลาดหัวไว ขยันขันแข็ง มีจริยธรรมและสำนึกสูง มีความรับผิดชอบ แต่บางคนนิสัยไม่ดี ต้องคอยสอน เกียจคร้าน มีจริยธรรมและสำนึกต่ำ ขาดความรับผิดชอบ ถึงอย่างนั้นต่อให้เขามีข้อด้อยหรือจุดที่ไม่ดีในตัวเองยังไง เขาก็ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

การบริหารเชิงพุทธให้มองว่า มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคในแง่ของความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรที่จะเคารพในเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามที่มีอยู่ในตัวผู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ควรมองเฉพาะจุดด้อยจุดเสียของคนอื่น แต่ให้มองถึงจุดดีจดเด่นด้วย ซึ่งการมองอย่างนี้ จะทำให้สามารถมองผู้อื่นในมุมที่กว้างขึ้น

รับฟังคนอื่นให้มาก

นอกจากการมองมนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ความดีอยู่ในตัวแล้ว การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงผลงานและแสดงออกในเรื่องต่างๆ ที่สามารถทำได้ ทั้งให้ความเป็นเพื่อนร่วมโลกและการดูแลจิตใจเขามากขึ้น ก็เป็นวิธีบริหารแนวพุทธวิธีหนึ่ง

ช่อผกายอมรับว่า เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาค่อนข้างมาก ทุกครั้งที่เกิดเหตุทำให้ไม่พอใจหรือทำให้มีปฏิกิริยาขุ่นเคืองต่อลูกน้อง ในฐานะเจ้านายมันง่ายมากที่จะโกรธพวกเขา บางครั้งแม้ปากจะว่ากล่าว แต่ในใจยังมีสติคอยเตือนว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเธอเองก็เป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ลูกน้องคนเดียว และมิใช่เธอคนเดียว ลูกน้องด้วย

เธอบอกว่า เวลาสั่งงานลูกน้องแล้วไม่ได้อะไรตามเป้าหมายที่ต้องการ จะมีความรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมลูกน้องจึงชักช้า ทำให้งานเสียหาย ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะชี้ไปที่ลูกน้องทันที แต่ปัจจุบันจะตั้งสติทบทวนว่าเป็นเพราะตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรที่ควรทำ และการที่คาดหวังให้ลูกน้องเข้าใจงานรวดเร็วเหมือนที่ตัวเองเป็น ก็กลับมาประเมินว่าลูกน้องแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนนี้เข้าใจงานได้ช้า เวลาสั่งงานต้องอดทน ต้องบอกขั้นตอนเขาละเอียด อย่างนี้เป็นต้น

“ฝึกปฏิบัติอย่างนี้บ่อยๆ ก็ทำให้เราเข้าใจคน เพราะมนุษย์ไม่เหมือนกัน จริตต่างกัน นิสัยต่างกัน บางคนชอบที่จะให้เราตั้งเป้าแล้วเขาไปเลือกวิธีทำเอง ซึ่งคนประเภทนี้ ถ้าไปจุกจิกจู้จี้วิธีทำเขาจะโกรธได้ พานคิดว่าเราไม่ไว้ใจเขาเข้าไปล้วงลูก หรือคิดว่าเจ้านายจะมาฮุบผลงาน ลูกน้องแบบนี้มี ซึ่งเราก็จะเฮิร์ต เห็นว่าเหนื่อยก็เข้ามาช่วย พอช่วยงานเสร็จ กลายเป็นว่าเขาหาว่านายไปปล้นผลงานเขา อย่างนี้ถ้าไม่มองเป็นแนวพุทธ ต้องไล่ออก แต่อันนี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้”

ช่อผกา บอกว่า เราไม่อาจที่จะเปลี่ยนความคิดของเขาได้ ถ้าเขายังคิดอย่างนั้นก็ปล่อยเขาไป ในเมื่อเขายังทำงานให้องค์กรได้ดี เราก็จะได้รู้วิธีบริหารแบบไม่บริหารในคนบางคน ล้วงลูกมากไม่ได้ก็ปล่อย แต่เราจะเป็นฝ่ายจัดการความโกรธในใจตัวเอง ลดความอาฆาตในใจทิ้ง มีเมตตาในตัวลูกน้องด้วยการมองข้อดีของเขาที่เห็น

“มันยากมากกับคนที่มีอำนาจอยู่ในมือจะมองอย่างนั้น เป็นผู้บริหารใหญ่ในองค์กรไม่พอใจก็ไล่ออกได้ แต่ไม่ง่ายกับการไล่คนออก ถ้าไล่คนออกแล้วใครจะทำ แล้วเขาออกไปแล้วจะไปหากินที่ไหน ความผิดของเขาถึงขั้นออกเลยหรืออย่างไร ถ้าเขากับเราอยู่ร่วมกันไม่ได้ เอาเขาไว้แต่ให้ปะทะน้อยลง ลดการเสียดทานด้วยการบริหารจัดการบางอย่าง มันก็มีทางออก”

ซีอีโอแห่งเอ พลัสฯ แนะวิธีบริหารคนที่ไม่ชอบใจว่าควรเลือกวิธีลดการปะทะน้อยลง ถ้าไม่ชอบลูกน้องคนนี้ แต่เขามีผลงาน ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวเขามาก ถ้ารู้ว่าสื่อสารต่อตรงกับเขาไม่ได้ ก็หาแบริเออร์ (เครื่องกั้น) ช่วยลดทอนพลังงาน โดยให้เขาไปอยู่กับคนอื่น แล้วสั่งงานเขาผ่านคนอื่น นี่ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง

“บางคนให้งานไปทำเขาจะได้ภูมิใจว่างานนั้นเป็นฝีมือของเขา เอาเข้าจริงปรากฏว่าต้องคอยบอกทีละสเต็ป 1 2 3 บางคนใช้วิธีเลกเชอร์ก็มี งานชิ้นนี้มีวิธีทำ 1 2 3 อย่างนี้เป็นต้น ผู้บริหารต้องคิดแล้วว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้เหมือนกัน ศักยภาพไม่ได้มีเท่ากัน บางคนมาก บางคนน้อย ฉะนั้น เรื่องไหนยอมได้ก็ต้องยอม ปล่อยวางได้ก็ต้องปล่อยวาง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการบริหารเชิงพุทธ” ช่อผกา กล่าว

ลดความบ้าอำนาจ

ช่อผกา บอกว่า ผู้บริหารทุกคนต้องบ้าอำนาจ คนที่บอกว่าไม่บ้าอำนาจต้องเป็นคนที่บรรลุจริงๆ เพราะอำนาจอยู่ในมือผู้ใดผู้นั้นบ้าทุกคน แต่จะบ้ามากหรือบ้าน้อยอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ถ้าคิดว่าคนนี้ทำผิด เดี๋ยวตัดเงินเดือน เดี๋ยวไล่ออก อย่างนี้ก็เป็นการใช้อำนาจแล้ว

“ผู้บริหารควรจะลดทอนความแข็งกร้าวของการสั่งการอำนาจด้วยการจัดการใจของตัวเองเพื่อผ่อนคลายความบ้าอำนาจในฐานะผู้กุมอำนาจในองค์กร ควรใช้อำนาจแต่น้อย และควรที่จะตรวจสอบว่าอำนาจที่ใช้อยู่นั้น เป็นการใช้ตามสิทธิหน้าที่หรือใช้ตามความบ้าอำนาจในใจเรา ไม่ใช่ว่าไม่มีสิทธิเอาใครออก ไม่มีสิทธิตัดเงินเดือน แต่การปฏิบัตินั้นจะต้องทำด้วยใจที่ว่าง มิใช่ภายใต้อารมณ์ที่ยังโกรธอยู่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือบ้าอำนาจ” ช่อผกา อธิบาย

ผู้บริหารต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จในองค์กรจะเกิดขึ้นมาจากผู้บริหารเพียงคนเดียวก็หาไม่ ทุกคนในองค์กรล้วนมีส่วนทำให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จทั้งสิ้น

ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้คนที่ร่วมขบวนการสร้างเงินทางธุรกิจกับองค์กรได้พัฒนาจิตวิญญาณไปพร้อมกับองค์กร สิ่งที่ผู้บริหารต้องทำก็คือการพัฒนาจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ ต้องรู้เท่าทันอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เรื่องใหญ่ที่สุดคือความบ้าอำนาจ ต้องรู้ให้ทันความบ้าอำนาจของตัวเอง แล้วกล้าที่จะบอกกับตัวเองว่า คุณผิดต่อลูกน้องที่ทำผิด ไม่ใช่ลูกน้องผิดแต่คุณก็ผิดเช่นกัน จากนั้นเปลี่ยนวิธีการที่จะปฏิบัติต่อทุกคนในองค์กรให้เหมาะสมถูกต้องถูกวิธีถูกธรรมและถูกสถานการณ์

เพียงแค่นี้คุณก็สามารถจะเป็นผู้บริหารที่มีความตื่นรู้ (พุทธะ) คนหนึ่ง"

แม้นจะเป็นบทความที่นำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจ ก็สามารถนำหัวใจของวิถีพุทธกับการเมืองใหม่ได้อย่างแน่นอน และแก้วิกฤติการเมืองขณะนี้ได้ จึงขอขอบคุณหนังสือพิมพ์โฟสต์ ทูเดย์ มา ณ โอกาสนี้


มหาเนชั่น

http://www.mhanation.net

รายงาน

วันจันทร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น: