เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มุ่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ได้สำรวจเม็ดเงินที่จะนำไปฟื้นฟูเศรษฐิจ แก้ปัญหาโรงงานปิดตัว คนตกงาน ตัวเลขคร่าวๆ 3 แสนล้านบาท พร้อมกับประกาศหากแก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่สำเร็จทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแน่
เม็ดเงินจำนวน 3 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลจะเอามาจากไหน เพราะการจัดเก็บภาษีในยามวิกฤติเช่นนี้ย่อมไม่เข้าเป้าอย่างแน่นอน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ประมาณการณ์คร่าวๆได้มาจาก
1.งบกลาง 1 แสนล้านบาท
2.เงินผ่านธนาคารของรัฐตามโครงการต่างๆอาทิ โครงการเกี่ยวกับการเกษตร หรือเอ็มเอ็มอี 1 แสนล้านบาท
3.งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท
เมื่อเห็นตัวเลขเช่นนี้ก็พอจะเบาใจได้ว่ารัฐบาลมีเงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ทันทีที่มีข่าวออกมาเช่นนี้ก็มีเสียงดังจากผู้บริหาร อปท.ว่าเป็นการดึงงบประมาณของท้องถิ่นกลับไปเป็นงบกลาง เพื่อที่รัฐบาลจะบริหารเอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ออกมาชี้แจงทันทีว่าไม่ใช่เป็นการดึงงบประมาณท้องถิ่นมาบริหารเอง แต่เป็นการกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ให้ท้องถิ่นนำไปใช้จ่ายตามโครงการที่กำหนดให้มากที่สุด เพราะสงสัยว่าทำไมถึงค้างอยู่ส่วนกลางมากเช่นนี้
ดังนั้นก็อยู่ที่ท้องถิ่นหละจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้สอดคล้องกับการแก้วิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร ไม่ใช่เป็นการกระจายลงไปในกระเป๋าผู้บริหารท้องถิ่นหรือวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง จะต้องนำงบประมาณส่วนนี้ไปสร้างอาชีพสร้างงานให้กับชาวบ้านหรือคนงานที่ตกงานแล้วกลับไปยังภูมิลำเนา เพราะล่าสุดเห็นจะให้ท้องถิ่นตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนว่างงานก็ไม่รู้ว่าท้องถิ่นมีการขยับกันบ้างหรือยัง หรือว่ารอเงินรอการประสานจากส่วนกลาง ในยุคอย่างนี้ท้องถิ่นจะต้องหูตาไหวรับฟังข่าวสารหรือทิศทางของรัฐบาลจะไปทางไหน แล้วสามารถตั้งแท่นรองรับได้ทันที
และควรจะหมดยุคได้แล้วประเภทนำงบประมาณไปสร้างถนนปีเดียวพัง ปีใหม่ก็ของบมาทำใหม่ เงินก็เข้ากระเป๋าผู้รับเหมา ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่น แบบนี้ก็แย่ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติทางอ้อม
หากรัฐบาลกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณท้องถิ่น 1 แสนล้านบาทเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและให้สอดคล้องกับแผนกระกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วก็เชื่อแน่ว่าคงไม่มีปัญหาหรือมีเสียงคัดค้านจากผู้บริหารท้องถิ่น ดูอย่างนายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกุล ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต. แห่งประเทศไทย หรือนายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามแผนที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะงบประมาณที่กำหนดให้รัฐต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นร้อยละ35 ซึ่งปัจจุบันนี้จัดสรรให้เพียงร้อยละ25เท่านั้น ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดให้จัดสรรให้ร้อยละ35 ในปี 2549 แล้ว
ถ้าจะให้ดีนายชาตรีเสนอว่า นายอภิสิทธิ์ควรจะนั่งประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ด้วยตัวเอง เพราะเคยนั่งมาแล้วสมัยเป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2542 เพราะที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีนายกฯคนไหนเข้ามานั่ง
ก็คงต้องดูกันต่อไปว่านายอภิสิทธิ์จะเข้ามาเป็นประธาน กกถ.เองหรือไม่ เพราะหากเข้ามาดูเองแล้วก็เชื่อแน่ว่าจะทำให้งาน เงินส่วนให้มีความคล่องตัวและจะเป็นการกระตุ้นการเบิกจ่ายได้อีกทาง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวกับท้องถิ่นคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยก็อยู่ในการดูแลของรมต.กลุ่มเพื่อนเนวิน หากจะให้รมต.ประจำสำนักนายกฯคนใดคนหนึ่งในสองคนดูท่าทางแล้วจะไม่สันทัดเท่านายอภิสิทธิ์ จึงเกรงว่าเม็ดเงินส่วนนี้อาจจะมีการเบิกจ่ายไม่ตรงเป้าหรือทันการก็เป็นได้
ดังนั้น นายกฯอภิสิทธิ์อย่ามองข้ามงานท้องถิ่น เพราะหนูอาจจะช่วยราชสีห์ได้นะ เพราะราชสีห์ตัวที่ผ่านๆๆมาไม่เคยเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังเลย
Mhanation.net
รายงาน
วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น